อัยการสูงสุดเปิดที่ทำการสำนักงานอัยการสูงสุด ตลิ่งชัน สำหรับงานที่ทำการอัยการสอบสวน สนับสนุนการสอบสวนคดีให้มีประสิทธิภาพเกิดความเป็นธรรม "อรรถพล"อดีต อสส.คนก่อตั้ง เผยเป็นประโยชน์ ประชาชนป้องกันแพะในคดี
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ส.ค. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนบรมราชชนนี เลขที่ 73/1 ถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระสงฆ์จากวัดกาญจนสิงหาสน์ จำนวน 9 รูป ร่วมประกอบพิธีทางศาสนา โดยมี ศ.พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุดผู้ก่อตั้งอัยการสำนักงานการสอบสวน เข้าร่วมพิธี
จากนั้นเวลา 09.59 น. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี และอัยการสูงสุด ได้ไปยังบริเวณหน้าอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี เพื่อร่วมกันกดปุ่มเปิดผ้าแพรคลุมป้ายอาคาร โดยมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด ข้าราชการฝ่ายอัยการ และบุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมพิธีฯ โอกาสนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีได้ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ข้าราชการฝ่ายอัยการ และบุคลากรที่ปฏิบัติราชการประจำอาคารดังกล่าว
โดยนายสิงห์ชัย ทนินซ้อนอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้เป็นพิธีเปิดสำนักงานอัยการสูงสุดตลิ่งชัน ซึ่งในปัจจุบันนี้สำนักงานอัยการสูงสุดของเราได้มีสำนักงานอัยการสอบสวนขึ้นมาและเพื่อให้สำนักงานการสอบสวนของอัยการได้มีสำนักงานที่เป็นเอกเทศเพื่อความคล่องตัวในการทำงานซึ่งเป็นการสนับสนุนกาสอบสวนให้มีประสิทธิภาพและเกิดความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้ามารับบริการ ซึ่งเป็นเบื้องต้นของการอำนวยความยุติธรรม จึงมีการสร้างพื้นที่เพื่อให้บุคลากรขอ สำนักงานอัยการสอบสวนได้ใช้ในการทำงานในด้านการสอบสวนซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยในอาคารนี้นอกจากสำนักงานการสอบสวนของอัยการแล้วก็ยังมีสำนักงานบังคับคดีของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยในเร็วนี้อาคาร แห่งนี้ก็จะมีสำนักงานอัยการปราบปรามทุจริตฯมาอยู่ในอาคารนี้ด้วยเนื่องจากอาคารนี้อยู่ใกล้กับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ด้านศ.พิเศษ อรรถพล อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่าตอนที่สอนหนังสือ รู้ว่าอัยการสากลในต่างประเทศ อย่างประเทศอังกฤษนั้น ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีคือพนักงานอัยการอย่างเดียว ผู้เสียหายฟ้องไม่ได้ แต่ของประเทศไทยเราฟ้องได้ ซึ่งตามปกติอัยการจะมีอำนาจ3 อย่างคือ 1.สอบสวนฟ้องร้อง 2.ดำเนินคดีในศาล และ 3. บังคับคดี แต่ในประเทศไทยเดิมอัยการมีอำนาจสอบสวนเฉพาะตัวอัยการสูงสุดในความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการทั่วไปจึงมีอำนาจแค่ฟ้องร้องคดีอย่างเดียว ซึ่งตนมองว่าถ้าอัยการมีอำนาจสอบสวนแล้วคดีจะได้ไม่มีแพะ และอัยการควรจะมีอำนาจสอบสวนในการเข้าไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนหรือให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาได้ จนเมื่อปี2547 มีพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ เราพยามผลักดันให้อัยการไปนั่งร่วมสอบสวนซึ่งก็ได้เฉพาะคดีพิเศษเท่านั้น ครั้นพอตนได้เป็นอัยการสูงสุดจึงเสนอให้มีการตั้งสำนักงานการสอบสวนในวันที่ 1 ต.ค.56 เพราะถ้ามีสำนักงานการสอบสวนเต็มรูปแบบจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit