นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ (Dr. Wan Farisan Bin Wan Sulaima) Executive Director ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ร่วมหารือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคเกษตรและหารือในโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands) โดยมี นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการหารือในครั้งนี้ ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหยภายในประเทศและส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในทุกระดับ เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน เน้นการส่งเสริมการผลิตในครัวเรือนที่สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินงานของไทยในด้านการสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการ เช่น การบริโภคอาหารโปรตีนสูงจากแมลง เช่น จิ้งหรีด และการใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Economy ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเกษตร และองค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารสู่ความยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในระดับพื้นที่ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและเตรียมความพร้อมด้านอาหารของแต่ละพื้นที่ในภาวะวิกฤติ รวมทั้งช่วยให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands) ที่ จังหวัดน่าน ซึ่งโครงการนี้ช่วยลดความเปราะบางและส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและระบบนิเวศพื้นที่สูง ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและในอนาคต แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร โดยส่งเสริมเกษตรกรรมเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) สนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบในมิติสังคมและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พัฒนา ฟื้นฟู ความมั่นคงด้านอาหารในจังหวัดน่าน เพื่อให้บรรลุผลระยะยาวที่ต้องการความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรที่ดีขึ้นบนพื้นที่สูง
ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับ ADB ในการหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์และช่วยเพิ่มศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้แก่ภาคการเกษตร อาทิ ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ การสนับสนุนเครื่องจักรกล เทคโนโลยีการเกษตร และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit