ม.มหิดล - วช. คิดค้นเครื่องมือวัดทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร(Brain Executive Function) ที่ส่งผลทักษะ "อภิปัญญา" (Metacognition) เพื่อฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย
อวัยวะส่วนที่มหัศจรรย์ที่สุด คือ "สมอง" ที่คอยขับเคลื่อนชีวิตให้ดำเนินไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยในทางแพทยศาสตร์ถือเอาภาวะการหยุดทำงานของสมองคือการสิ้นสุดของชีวิต และเป็นอวัยวะที่ควบคุมพฤติกรรมและภาวะสมดุลต่างๆ ของร่างกาย
อาจารย์ ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย "การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองชั้นสูง (Brain Executive Function : EF) สำหรับวัยรุ่นไทย" ที่จัดทำโดยสถาบันฯ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือมาตรฐานในการวัด ทักษะ EF สำหรับเยาวชนเกิดขึ้นครั้งแรก
ข้อเท็จจริงที่ว่า เพียง
"วิทยฐานะ" ซึ่งได้จากการศึกษาในห้องเรียนปกติ ไม่อาจนำพาสู่ทางรอด การประสบความสำเร็จและความสุขของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ทักษะสมอง EF มาช่วย ทั้งการนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่า และข้อมูลปัจจุบัน ไปวางแผนทำกิจกรรมต่างๆ และการจดจ่อทำงาน จะทำให้เด็กมีทักษะ"อภิปัญญา" ที่จะตระหนักรู้ ตัดสินใจ เลือกวิธีการวางแผนและกำกับตัวเองให้ทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งการเรียนในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอ เด็กจำเป็นต้องได้เรียนรู้ "ทักษะชีวิต" นอกห้องเรียนร่วมกับความรู้ทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมทักษะ EF ครอบครัวควรลดการเลี้ยงดูแบบประคับประคองดูแล หรือ "protect" มากจนเกินไป จนทำให้เด็กขาดทักษะในการปรับตัว แก้ไขปัญหา และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
เพราะจากข้อมูลการวิจัย การสำรวจสถานการณ์ทักษะ EF ของเยาวชนไทย ช่วงอายุ 11 - 18 ปี จำนวน 2,400 คน ในปี2565 พบว่าทักษะ EF ในภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระดับปานกลาง ร้อยละ 45.17 ส่วน EF รายด้านพบว่ามี ทักษะ EF ที่อยู่ในระดับ ควรพัฒนาปรับปรุงเร่งด่วน 3 ด้าน คือ ด้านการทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย 35.21% ด้านการควบคุมอารมณ์ 34.54% และการยับยั้งชั่งใจ34.08%
ซึ่งความมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จในเวลาที่กำหนด เป็นทักษะที่สามารถทำนายได้ถึงอนาคตของความสำเร็จในการเรียนของเยาวชน และการทำงานในวัยผู้ใหญ่
ในขณะที่ทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ และการยับยั้งชั่งใจเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความสามารถในการควบคุมตัวเองให้มีสมาธิจดจ่อ ยืดหยุ่น ปรับตัวทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสามารถปลูกฝังได้จากการฝึกให้เยาวชนรู้จักการตั้งเป้าหมาย และกำหนดเงื่อนเวลาในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอย่าง "รู้คิด รู้เขา รู้เรา" ที่จะได้จากการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้อยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ควรฝึกให้เด็กจัดการกับ "ความเครียด" เพราะหากเครียดมากๆ เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ที่คอยควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำและการตัดสินใจ ดังนั้นจึงควรฝึกให้เยาวชนหาทางออกที่เหมาะสมในการจัดการกับความเครียด ด้วยการพยายามหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย อาทิ ร้องเพลง วาดรูป ดนตรี ฯลฯรวมทั้งหลีกเลี่ยงการตีตรา และลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล
ควรให้เด็กมีประสบการณ์ผ่านกิจกรรมใหม่ๆ หลากหลายเพราะกิจกรรมใหม่ๆ เด็กจะได้ใช้ทักษะ EF ในการแก้ไขปัญหามากกว่า เช่น ให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดวางแผนทำตารางกิจกรรมท่องเที่ยวของครอบครัวในวันหยุด ตั้งแต่การตั้งงบฯ จองที่พัก วางแผนการเดินทาง หรือให้เด็กทำโครงงานกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อน จะช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีพัฒนาการทักษะสมองที่ดียิ่งขึ้น
ยิ่งฝึกซ้ำๆ ฝึกบ่อยๆ จะทำให้วงจรประสาทเชื่อมต่อกันแข็งแรงขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรม นิสัย และบุคลิกภาพที่ดีต่อไป ยิ่งจะทำให้พบกับความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจได้ในที่สุด
สำหรับเยาวชนที่สนใจประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร EF ที่ส่งผลต่อ "อภิปัญญา" ในการตระหนักรู้ความคิด ความเข้าใจของตนเอง การแก้ไขปัญหาว่าอยู่ในระดับใด สามารถเข้าไปประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหารได้ด้วยตัวเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่www.MUEF-teenager.com ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งการประเมินทำให้เราทราบระดับความสามารถทักษะสมอง EF ทราบจุดเด่นและความบกพร่องของทักษะ EF เนิ่นๆ เพื่อฟื้นฟู พัฒนาได้ตรงจุด ทันท่วงที และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้เยาวชนในวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit