สจล. งัดแผน "ลาดกระบังโมเดล" จับมือ 65 ชุมชน สู้วิกฤตน้ำท่วม

14 Sep 2022

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดึงแผน "ลาดกระบังโมเดล" ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 นำมาเป็นโมเดลต้นแบบ พัฒนาปรับใช้แก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์ในปีนี้อีกครั้ง พร้อมเปิดแผนปฏิบัติการ "สำรวจ ตั้งรับ เฝ้าระวัง ดูแล และฟื้นฟู" โดยร่วมมือกับ 65 ผู้นำชุมชนใน 6 แขวงของเขตลาดกระบัง เป็นจิตอาสาร่วมเฝ้าระวังระดับน้ำในชุมชน และสื่อสารกระจายข้อมูลไปยังประชาชนในชุมชนให้พร้อมตั้งรับน้ำได้ทันท่วงที พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในชุมชน และฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้งโดยเร็ว

สจล. งัดแผน "ลาดกระบังโมเดล" จับมือ 65 ชุมชน สู้วิกฤตน้ำท่วม

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากที่ สจล. จัดการประชุม พบปะหารือชุมชนเขตลาดกระบัง เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พบว่า ประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวเนื่องจากน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน ทำให้น้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็น และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อีกทั้ง ถนนชำรุดเสียหาย ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้โดยสะดวก ซึ่งต้องการให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนมีความขาดแคลนยารักษาโรค ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อเป็นเสบียงใช้ดำรงชีพจนกว่าจะสามารถเดินทางสัญจรได้ ทั้งนี้ ประชาชนในชุมชนลาดกระบัง มีความกังวลในสถานการณ์น้ำ หากในอนาคตมีการปล่อยน้ำเหนือลงมา โดยที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ยังระบายออกไม่หมด จะทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ลาดกระบังอีกครั้ง ซึ่งมองว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก และคลองต่างๆ ยังสามารถรองรับได้อยู่ หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ในการเร่งระบายน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เขตลาดกระบังขณะนี้ได้

จากการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการน้ำ "ลาดกระบังโมเดล" ที่เคยประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำช่วงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ซึ่ง เป็นโมเดลต้นแบบที่สจล. นำมาพัฒนา ปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ และสถานการณ์ปัจจุบัน โดยโมเดลนี้ จะเชื่อมโยงเครือข่าย ระหว่าง สจล. กับผู้นำชุมชนทั้ง 65 ชุมชน ใน 6 แขวงของเขตลาดกระบัง ให้ร่วมเป็นจิตอาสาเฝ้าระวังระดับน้ำในชุมชน และทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนในชุมชน โดยมีแนวคิดการดำเนินงาน คือ "สำรวจ ตั้งรับ เฝ้าระวัง ดูแล และฟื้นฟู"

แผนการสำรวจ ศูนย์ฯ จะสำรวจเส้นทางน้ำ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ ของพื้นที่ลาดกระบัง และขยายไปทั่วพื้นที่ตะวันออก เพื่อศึกษาการเคลื่อนตัวของน้ำ และนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อผู้นำชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านรับรู้สถานการณ์ พร้อมเตรียมตัวตั้งรับได้ทันท่วงที แผนการตั้งรับ หลังการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางน้ำ วิเคราะห์ปัญหา ศูนย์ฯ จะประชุมหารือแนวทางแก้ไขร่วมกันกับชุมชน เพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วน อาทิ วางแผนงานขุดลอกคูคลองเพื่อกำจัดผักตบชวา และขยะที่กีดขวางเส้นทางน้ำ

แผนการเฝ้าระวัง ศูนย์ฯ จัดทีมวัดระดับน้ำในคลองต่างๆ โดยจัดทำหมุดวัดระดับน้ำแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดกับลำคลอง พร้อมแนะนำวิธีอ่านค่าสเกล เพื่อให้ทางทีมงานเก็บข้อมูลการเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับน้ำได้ทุกวันอย่างรวดเร็ว โดยทีมงานไม่ต้องลงพื้นที่ทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งข้อมูลระดับน้ำสามารถนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของน้ำในรูปแบบกราฟ และกระจายข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมตัวตั้งรับน้ำได้ทัน แผนการดูแล ศูนย์ฯ ลงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยนำถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย พร้อมให้ข้อมูลเรื่องน้ำไปด้วย

แผนการฟื้นฟู ศูนย์ฯ จัดตั้งทีมหมอไฟ ช่วยดูแลเรื่องระบบไฟฟ้า ให้ความรู้ชาวบ้านในชุมชนถึงวิธีป้องกันความปลอดภัยจากไฟฟ้าทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม และจัดตั้งทีมหมอบ้าน ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชน ซ่อมแซมบ้านเรือน พร้อมผลิต "เครื่องเจ็ทดันน้ำ" ที่มีประสิทธิภาพกว่าเรือดันผิวน้ำ สามารถไล่ดินโคลนออกหมด แก้ปัญหาคลองตื้นเขิน นอกจากนี้ ยังวางแผนจัดกิจกรรมฟื้นฟู ใน 5 ส่วน ได้แก่ 1) การบำบัดน้ำเสีย 2) การผันน้ำออกจากชุมชน 3) การจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ โคลน และการทำความสะอาดชุมชนหลังน้ำลด 4) การซ่อมสร้างชุมชน และ 5) ด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ

"ลาดกระบังโมเดล เป็นโมเดลตัวอย่างที่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปี 2554 ซึ่งสจล. มีความเชื่อว่า การจัดการภัยพิบัติ ไม่สามารถดำเนินได้ด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวได้ จำต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมดูแล ปกป้อง รักษาพื้นที่ของตน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประชาชน และชุมชน รอดพ้นจากภัยพิบัติไปด้วยกัน"

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องทุกข์ ผ่านทางช่องทางสายด่วน 093-563-7740 หรือ KMITL Tweet App https://tweet.kmitl.ac.th/ หรือ Line Ofiicial : @KMITLFF หรือ Facebook: ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคสิ่งของได้ที่ ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก หรือบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลขที่บัญชี 088-300012-2 พร้อมติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมได้ที่ Facebook: ศูนย์สจล. เฝ้าระวังน้ำท่วม ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถาบันฯ ได้ทาง www.facebook.com/kmitlofficial เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111

HTML::image(