สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงาน Asian and Pacific Centre for Transfer of Technology (APCTT) of the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) จัดงาน Regional Conference on Energy Resilience through Decentralized Power Plants and Smart Grid Integration ภายใต้งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2022 (ASEW)
งานสัมมนาดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้ Proposed Programme of Work in 2022 ที่ประเทศไทยเสนอจัดกิจกรรมให้แก่ APCTT และประเทศสมาชิก โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวต้อนรับ Ms. Preeti Soni, Head of APCTT, UNESCAP และ Mr. Hongpeng Liu, Director of Energy Division, UNESCAP โอกาสนี้ ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ร่วมกล่าวรายงาน และ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดวันที่ 15 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับงานประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่ออภิปรายนโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแบบกระจายตัว (Decentralized Power Plants) และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid Integration) แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อมุ่งเป้าให้เกิดความยืดหยุ่นด้านพลังงาน (Energy Resilience) ผ่านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแบบกระจายตัว และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ตลอดจนระบุกลยุทธ์สำหรับความร่วมมือระดับนานาชาติด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าแบบกระจายตัว และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน
ภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายตัว - โอกาสและความท้าทายสำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน การบูรณาการโรงไฟฟ้าแบบกระจายตัวกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ - โอกาส ความท้าทาย และอุปสรรค กลยุทธ์สำหรับการลงทุนและการค้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อความยืดหยุ่นด้านพลังงานผ่านโรงไฟฟ้ากระจายตัว และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อพัฒนา Bio-Circular-Green (BCG) Economy โรงไฟฟ้าแบบกระจายตัวเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดให้ประชาชนได้ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดความเสี่ยงในการส่งผ่านและการกระจายกระแสไฟฟ้า และลดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การบูรณาการของโรงไฟฟ้าแบบกระจายตัวและระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่นต่อความต้องการในการใช้ไฟฟ้าและความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายตัวผสานกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Bio-Circular-Green (BCG) Economy และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาย่อมเยาว์ เชื่อถือได้ และยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG No. 7)
อนึ่ง APCTT เป็นสถาบันระดับภูมิภาคของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิก เพื่อเสริมสร้างนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ 53 ประเทศสมาชิก และ 9 ประเทศสมาชิกสมทบของ UNESCAP เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเผชิญและเอาชนะความท้าทายในยุคโลกาภิวัตน์ อีกทั้งปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังเป็น National Contact Point ของประเทศไทยอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit