Thailand Phil สร้างปรากฏการณ์กระหึ่มเทศกาล
ดนตรีคลาสสิกระดับโลก เรียกเสียงปรบมือดังกึกก้อง
ฮอลล์ หลังบรรเลงเพลง "
ลาวดวงเดือน" ปิดท้ายการแสดง ผู้ชม
ชาวต่างชาติสุดประทับใจ ได้รู้จัก
วัฒนธรรมไทยผ่านบทเพลง นับเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวสำคัญของวงออร์เคสตราไทย ได้โชว์ความสามารถเป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงคลาสสิกมืออาชีพ แนะรัฐเร่งส่งเสริมใช้ soft power ด้านดนตรี ผลักดันประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ตั้งเป้าปักหมุดหมายทางดนตรีบนแผนที่โลก ผลักดันจังหวัดนครปฐม ให้เป็นหนึ่งในเมืองดนตรี City of Music ของยูเนสโกภาพที่ทุกคนลุกยืนขึ้นปรบมือดังกระหึ่มฮอลล์ ยาวนานต่อเนื่องหลายนาทีหลังการแสดงจบลง ยังติดตราตรึงใจ สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง ผู้ชม นักดนตรี และผู้อยู่เบื้องหลัง วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) หรือ Thailand Phil ภายใต้การนำของ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และการกำกับของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับเชิญเป็นตัวแทนวงออร์เคสตราในเซาท์อีสต์เอเซีย ร่วมแสดงในงาน
เทศกาลดนตรีลูบลิยานา ครั้งที่ 70 (70th FESTIVAL LJUBLJANA) เทศกาลดนตรีคลาสสิกสุดยิ่งใหญ่ในยุโรปดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เทศกาลดนตรีลูบลิยานา มีชื่อเสียงมายาวนาน จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกันยายน ที่เมืองลูบลิยานา เมืองหลวงของประเทศสโลวีเนีย ในห้วงเวลาจัดงานตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2565 มีวงออร์เคสตราและนักดนตรีคลาสิกชั้นนำจากทั่วโลกมาโชว์ฝีมือ ซึ่งในปีนี้ มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าร่วมงาน อาทิ Riccardo Muti, Daniel Barenboim, Pl?cido Domingo, Anna Netrebko, Lang Lang ส่วนวงออร์เคสตรา เช่น Royal Philharmonic Orchestra of London, Pittsburgh Symphony Orchestra และ Vienna Philharmonic Orchestra ในปี้นี้เป็นครั้งแรกที่วงออร์เคสตราจากประเทศไทย ได้รับเชิญเข้าร่วมโชว์ความสามารถ โดยวง Thailand Phil ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในวง highlight ที่ได้แสดงใน Main Concert Hall ภายหลังจบงาน ยังได้รับเชิญให้ทัวร์คอนเสิร์ตยุโรป - European Tour 2022 ในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฮังการี สโลวีเนีย และโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 27 ส.ค.-2 ก.ย. ที่ผ่านมา"การได้รับเชิญไปร่วมงานเทศกาลดนตรีระดับโลกครั้งนี้ ทางผู้จัดงานได้ทำหนังสือเชิญเรามา และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้เกือบทั้งหมด ทั้งยังแบ่งรายได้จากการขายบัตรมาเป็นค่าตัวนักดนตรีด้วย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จของวงออร์เคสตราจากประเทศไทย ที่เรามีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ ไม่ได้ต้องการบอกว่าเราเก่ง แต่ต้องการจะบอกว่าเรามีวัฒนธรรมที่เท่าเทียมสากล การมีวงออร์เคสตราที่มีมาตรฐาน แสดงว่าเราเท่าเทียมกับยุโรป อเมริกา เป็นการประกาศศักยภาพของประเทศว่าเรามีวัฒนธรรมเป็น Global Culture แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราทำงานหนักมาก เพื่อพิสูจน์ตัวเองเป็นเวลาหลายปี เพราะต้องสร้างโปรไฟล์ให้เป็นที่ยอมรับ" ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในฐานะนักประพันธ์เพลง และทำงานกับวงออร์เคสตร้าอยู่ในอเมริกามากว่า 18 ปี ได้ประพันธ์เพลง Phenomenon ไว้ตั้งแต่ปี 2003 และได้รับการแสดงจากวงออร์เคสตร้าชั้นนำระดับนานาชาติไม่ต่ำกว่า 50 คอนเสิร์ตทั่วโลก และได้เลือกบทเพลงนี้แสดงให้เห็นศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยในเวทีสากล นอกจากนี้วง Thailand Phil ยังได้เรียบเรียงเพลง "ลาวดวงเดือน" เป็นเพลงอังคอร์ (encore) ไปแสดงให้ผู้ชมนานาชาติได้ฟังเพลงไทยเดิม ปรากฏว่าทุกคนต่างชื่นชอบ ลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างยาวนานจนต้องประกาศว่าเราจบการแสดงแล้ว เป็นบรรยากาศสุดแสนประทับใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะกลุ่มผู้ชมก็เป็นนักฟังเพลงคลาสสิกมืออาชีพเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า วงออร์เคสตราของไทยได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกแล้ว"นอกจาก Thailand Phil จะมอบความบันเทิงทางดนตรีและเสริมสร้างสถานะมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำการศึกษาด้านดนตรีแล้ว ยังมุ่งมั่นสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนที่อยู่ร่วมกัน เราอยากให้ภาครัฐใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยให้เป็นที่รับรู้ในระดับนานาชาติ เป็นการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ คือการปักหมุดหมายทางดนตรีบนแผนที่โลก ผลักดันให้จังหวัดนครปฐม ได้รับการพิจารณาจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นหนึ่งในเมืองดนตรี (City of Music)" คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายดร.วรรณภา ญาณวุฒิ นักดนตรี กลองทิมปานี Timpani ซึ่งเป็นได้เดินทางไปร่วมทัวร์คอนเสิร์ต เล่าประสบการณ์ครั้งนี้ว่า ในฐานะนักดนตรีคลาสสิกคนไทย รู้สึกภูมิใจที่ได้ขึ้นเวทีระดับนานาชาติ ทั้ง 3 เวที ใน 3 ประเทศ มีความแตกต่างกัน ทีมงานและสมาชิกในวงร่วม 100 ชีวิต เป็นทีมเวิร์คที่ดี ทำให้การแสดงในแต่ละสถานที่ออกมาสมบูรณ์แบบ ได้รับการตอบรับจากผู้ชมล้นหลาม โดยเฉพาะการบรรเลงเพลง "ลาวดวงเดือน" ซึ่งประพันธ์โดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นเพลงที่โชว์เมโลดี้แบบไทยๆ ผ่านการบรรเลงของดนตรีคลาสิก บวกกับการตีความของคอนดักเตอร์ ปรับเพลงให้ออกมานุ่มนวล ผสมผสานฮาร์โมนีได้ไพเราะ กลมกลืน มีเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งสยามเมืองยิ้ม
"หลังจากเพลงจบลง คนดูก็ลุกขึ้นปรบมือให้นานมาก เชื่อว่าชั่วโมงนั้น สมาชิกคนอื่นๆในวงก็คงมีความรู้สึกเดียวกันคือ ภูมิใจที่การแสดงในวันนั้นสร้างความประทับใจให้กับคนดู ทั้งชาวยุโรป และชาติอื่นๆ ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่ให้การสนับสนุนให้วงได้มีโอกาสไปถึงจุดนั้น มีโอกาสได้แสดงศักยภาพ ของวงคลาสิกไทยให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกา มีความสนใจในดนตรีตะวันออก รวมถึงดนตรีไทย ซึ่งตอนนี้มีทั้งนักประพันธ์เพลงหลายคนได้นำเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ผสมผสานเข้ากับดนตรีตะวันตกมากขึ้น ทำให้ต่างชาติเข้าถึงง่ายขึ้น ถือเป็น soft power ที่จะช่วยผลักดันให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยในแง่มุมดีๆ และยอมรับในความสามารถของคนไทยเช่นกัน"