สสส. ชู ศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะฯ จ.ขอนแก่น ต้นแบบแก้ปัญหาขยะมูลฝอย

16 Sep 2022

ขอนแก่นติดโพลอาเซียน จ.สะอาด-เมืองน่าเที่ยว สสส. ชู ศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะฯ จ.ขอนแก่น ต้นแบบแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่เขตเมือง ต่อยอดขยายพื้นที่เมืองไร้ขยะใน กทม. ภายใน 2565 มุ่งขับเคลื่อนไทยสู่สังคม Zero Waste

วันที่ 16 ก.ย. 2565 ที่เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 24.98 ล้านตัน ในจำนวนนี้6.23 ล้านตัน หรือ 25% กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเสียจากขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ สสส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้ริเริ่มโครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 โดยพบว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองมีปริมาณขยะตกค้างอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 8 ของประเทศ ทำให้เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน พัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการบูรณาการร่วมกัน เป็นพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน 1.ชุมชนการเคหะ 2.ชุมชนบะขาม 3.ชุมชนโนนหนองวัด1 4.ชุมชนเหล่านาดี12 5.ชุมชนโนนชัย1 นำไปสู่ต้นแบบการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน เกิดพลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ซึ่งชุมชนมีต้นทุนในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาวะเชิงพื้นที่ด้วยตนเอง การลงพื้นที่ของ สสส. ในครั้งนี้ จะนำตัวอย่างบทเรียนการจัดการขยะระดับชุมชนไปขยายผลในพื้นที่เขตเมือง ร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป

นายมนตรี สิงหปุณณภัทร รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่น ใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของประเทศ มีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองนครขอนแก่นกว่า 400,000 คน การเจริญเติบโตของเมืองได้ส่งผลต่อสถานการณ์การเกิดขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลเมืองนครขอนแก่น มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดที่โรงงานไฟฟ้าขยะประมาณ 400 ตันต่อวัน เกิดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน 40 ล้านบาทต่อปีและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเข้าร่วมโครงการของ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ ทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs เปลี่ยนขยะเป็นบุญ ลดปริมาณขยะที่ต้องจัดการ ทำให้ในปี 2565 เทศบาลนครขอนแก่น ได้รับการยกระดับเป็น เมืองท่องเที่ยวสะอาด ตามข้อกำหนดที่อาเซียน 7 ด้าน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นางพรรณา อรรคฮาต ประธานชุมชนโนนชัย 1 กล่าวว่า การดูแลรักษาความสะอาดตามถนน ตรอก ซอยในพื้นที่ชุมชนโนนชัย 1 ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิถีพอเพียง ในจัดการขยะ 4 เรื่อง 1.ขยะอินทรีย์ แกนนำชุมชนจะเก็บรวบรวมบางส่วนนำมาเลี้ยงปลา อีกส่วนทำน้ำหมักจุลินทรีย์-ปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปใช้ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน ช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน 2.ขยะรีไซเคิล จัดตั้งกลุ่มกองทุนฌาปนกิจขยะเป็นบุญ รับซื้อขยะจากสมาชิกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ผลิตกระถางและกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการในชุมชน 3.ขยะทั่วไป แกนนำชุมชนจะแจกถุงดำให้ครัวเรือนใส่ขยะทั่วไป กำหนดเวลาทิ้ง-เวลาเก็บที่แน่นอน ตั้งเป้าเป็นชุมชนปลอดถังขยะ และ 4.ขยะพิษ/ขยะอันตราย ตั้งถังขยะรวบรวมขยะพิษ/ขยะอันตรายในพื้นที่กลางชุมชน ส่งผลให้เป็นชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง