เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานวิจัยให้บรรลุผลโดยไม่ได้สัมผัสกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เพราะชีวิตไม่ได้อยู่แค่เพียงในห้องทดลอง เช่นเดียวกับการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ไม่อาจเห็นผลในทางปฏิบัติได้ หากไร้ "พื้นที่แสดงตัวตน" และ "การปลดปล่อยคนพิการ"
รองศาสตราจารย์ ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเปิดมุมมองของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการว่า ควรให้ความสำคัญกับ "การวิจัยเชิงคุณภาพ" และ "การวิจัยแบบผสานวิธี"
โดยไม่ได้เป็นเพียง "การวิจัยเชิงปริมาณ" ที่ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มตัวอย่าง เพื่อเป็นตัวแทนผ่านค่าเฉลี่ย หรือค่ากลางของคนส่วนใหญ่เท่านั้น
แต่ควรผสมผสานด้วย "การวิจัยเชิงคุณภาพ" ที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูล ปรากฏการณ์เฉพาะ แม้จะเป็นเพียง "เสียงสะท้อน" ของคนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มเปราะบางเท่านั้น
เฉกเช่นคนพิการ แม้เพียงไม่กี่คน หากได้มีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการพูดคุย เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของคนพิการ จนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถหยิบมาตีแผ่ให้กลายเป็น "พื้นที่แสดงตัวตน" ได้
ซึ่งจะเป็นการช่วย "ปลดปล่อยคนพิการ" ให้พ้นจากพันธนาการแห่ง "การกดขี่ทางโครงสร้างอำนาจ" และ"เลือกปฏิบัติ" ของสังคมได้ต่อไป
ซึ่ง "การวิจัยเพื่อการปลดปล่อย" ที่เป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้ "มีส่วนร่วม" และ "เป็นเจ้าของพื้นที่ทางวิชาการ" ใน "พื้นที่แสดงตัวตน" นั้น นอกจากจะทำให้ได้ "ผลลัพธ์" ที่จะสามารถ "ส่งต่อ" ให้เกิดความเข้าใจของสังคมในความต้องการของคนพิการ สู่การสร้างสรรค์ปัจจัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้อย่างสันติสุขแล้ว ยังเป็นการช่วยให้คนพิการได้เข้าใจตัวเอง และสังคมคนพิการด้วยกันเองมากยิ่งขึ้นต่อไปอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี กล่าวต่อไปว่า "นักวิจัย" เป็นเพียง "ผู้มีส่วนช่วยขับเคลื่อน" ให้เกิด "การเปลี่ยนแปลง" เท่านั้น แต่สังคมจะเปลี่ยนได้ ต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยน และขยาย "mindset" หรือ วิธีคิด กระบวนทัศน์ของแต่ละบุคคลให้เป็นไปอย่างถูกทิศทางเสียก่อน
ตัวอย่างกรณีเรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ให้ได้ผลนั้น อาจไม่เพียงการให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขที่คุ้นชินแก่ประชาชนเท่านั้น แต่สำคัญที่การมองไปถึง "ความมั่นคงทางสังคม" ร่วมด้วย
โดยควรที่จะวิเคราะห์ลงลึกให้ได้ถึง "การให้คุณค่า" และ"ความหมายของชีวิต" ของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถเกิด"ความเข้าใจ" และ "การเข้าถึง" ได้อย่างตรงจุด
หากเราสามารถเปิดมุมมองที่หลากหลายในการทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ จะเป็นการพัฒนามวลมนุษยชาติให้สามารถ "รู้รอบด้าน" ได้มากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด คนพิการก็ยังคงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่าน "การยกระดับทางการศึกษา" และ "การไม่เลือกปฏิบัติ" ของสังคมในทุกยุคสมัย
ขอเพียง "ความเข้าใจ" และ "ท่าที" ต่อคนพิการ ในฐานะ"มนุษย์" อย่างเท่าเทียม เสมอภาค และการพึ่งพาอาศัยกัน
เชื่อว่าอนาคตของคนพิการไทยที่จะสามารถยืนหยัดอย่างยั่งยืนด้วย "ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" ได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปทั่วโลกนั้นคงอยู่ไม่ไกล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit