รายงานผลสำรวจทักษะความรู้และความพร้อมของคนไทยในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA)I ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการช่วยชีวิตคนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อจำเป็น (Automated External Defibrillator หรือ AED) พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของ AED และมีหลายคนที่เคยได้รับการฝึกอบรมการช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น (First-aid training) แต่มีเพียงร้อยละ 37 เท่านั้นที่ทราบวิธีการกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง
จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยทั้งประเทศจำนวนกว่า 2,000 คน แบ่งเป็นชายร้อยละ 49 และหญิงร้อยละ 51 ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 มีคนรู้จักที่เจ็บป่วยจากอาการหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งร้อยละ 69 ให้ความเห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำการกู้ชีพผู้ป่วย เมื่อเกิดเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่เคยเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน ในขณะที่คนไทยเกินครึ่งไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ เพราะไม่ทราบวิธีการหรือลืมไปแล้ว ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 29 ที่เคยเรียนรู้วิธีแต่จำวิธีการช่วยเหลือไม่ได้ ส่วนอีกร้อยละ 39 ไม่เคยเรียนรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นเลย
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยว่า ประมาณร้อยละ 50 ของคนไทยรู้จักเครื่อง AED ซึ่งคนกลุ่มนี้ทราบถึงประโยชน์ว่าสามารถช่วยช็อกหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า รวมทั้งร้อยละ 70 ของคนกลุ่มนี้ยังทราบว่าเครื่อง AED มาพร้อมคำสั่งแบบภาพและเสียงที่เข้าใจง่ายเพื่อแนะนำแนวทางการช่วยชีวิตผู้ป่วยตลอดกระบวนการ อันที่จริงแล้ว เครื่อง AED บางเครื่องยังนำเสนอฟีดแบ็คเกี่ยวกับแรงและอัตราการกดขณะ CPR แบบเรียลไทม์ได้ในตัว อย่างไรก็ตาม คนไทย 2 ใน 3 ไม่ทราบวิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ต่างเห็นด้วยว่า การเรียนรู้วิธีช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยเครื่อง AED เป็นสิ่งที่จำเป็น และเกินร้อยละ 70 รู้สึกสะดวกใจที่จะใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
นอกจากนี้ สำหรับผลสำรวจในด้านการรับรู้เกี่ยวกับเครื่อง AED ยังเผยว่า มีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ทราบว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีการติดตั้งเครื่อง AED และส่วนใหญ่ร้อยละ 54 ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ โดยมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่เคยพบเห็นเครื่อง AED ตามห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือสนามบิน เป็นต้น อย่างไรตามผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทุกคน หรือร้อยละ 97 ต่างเห็นด้วยว่าสถานที่สาธารณะต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่อง AED
นายแพทย์นิพนธ์ ศรีสุวนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ด้านปฏิบัติการโรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า "ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับความตระหนักรู้ของคนไทยในเรื่องการช่วยชีวิตคนขั้นพื้นฐาน รวมถึงความพร้อมในการช่วยชีวิตเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลันเสียชีวิต คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะลดลงถึงร้อยละ 10 ในทุก ๆ 1 นาที หลังจากหมดสติII ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้องจะช่วยยืดเวลาให้กับผู้ป่วยก่อนเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินจะมาถึงได้"
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กำลังเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตผู้คนมากมายในแต่ละปี เป็นภาวะที่เกิดจากการที่หัวใจสูญเสียการทำงานกระทันหัน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกซิเจนไปยังร่างกายได้อย่างเพียงพอ และทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่มีความอันตรายถึงชีวิต ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกคนในทุกที่ทุกเวลา ทั้งในที่สาธารณะหรือที่ทำงาน และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น จากข้อมูลขององค์กร Global Resuscitation Alliance ระบุว่า อัตราผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันทั่วโลกมีน้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีIII ในขณะที่ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากถึงปีละ 54,000 คน เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 6 คนIV
เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยในประเทศไทย ประชาชนทั่วไปจึงต้องมีความรู้ในการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติหรือ AED โดยผลการวิจัยพบว่า การใช้เครื่อง AED ช็อกกระตุ้นหัวใจอย่างถูกต้องภายใน 3-5 นาทีแรกเมื่อจำเป็นต้องใช้ จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 75V นอกจากนี้การติดตั้งและมีเครื่อง AED ที่พร้อมใช้งานในพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่ชุมชนและสถานที่ทำงานได้มากยิ่งขึ้น
ในกรณีที่พบผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้แนะนำวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรียกว่า "ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต" (Chain of Survival) ดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควรเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยการติดตั้งเครื่อง AED ไว้ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน เพื่อให้สอดคล้องไปกับกฎกระทรวงมหาดไทยล่าสุด ที่ได้ออกประกาศในกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเดินทางมาถึง โดยอาคารเหล่านี้ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ภายในตัวอาคารที่เข้าถึงได้ง่ายVI
โอกาสที่เราจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลได้สำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันท่วงทีVII การมีทักษะความรู้ด้านการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการที่เราสามารถเข้าถึงเครื่อง AED ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถือเป็นการสร้างปาฏิหาริย์นาทีชีวิตให้กับผู้ป่วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit