'สินิตย์' มอบ 'กรมเจรจาฯ' ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้มผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเกษตรกรแดนใต้ เร่งใช้ประโยชน์ FTA ส่งออกทุเรียนแช่แข็ง ผ้าปาเต๊ะ อาหารทะเลแปรรูป บุกตลาดต่างประเทศ
'สินิตย์' มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้มผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเกษตรกร ทั้งการใช้ประโยชน์จาก FTA กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี พร้อมหนุนสินค้าดาวเด่น อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ทุเรียนแช่แข็ง และอาหารทะเลแปรรูป ส่งออกตลาดต่างประเทศ แนะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า และช่องทางเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ "การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน" ณ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ MOC Biz Club จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าและการส่งออก พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพ
"ปัจจุบันผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเป็นการรับช่วงธุรกิจหรือต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความริเริ่มและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบทางการค้าและใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อพัฒนาธุรกิจในยุคการค้าเสรีอได้ย่างยั่งยืน" นายสินิตย์กล่าว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้นำทีมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ พร้อมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าศักยภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป และเครื่องดื่มจากรำข้าว โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและนักการตลาดให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า กลยุทธ์การเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สินค้าสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Future Food นอกจากนี้ การใช้ Soft Power เรื่องวัฒนธรรมด้านอาหารและศาสนา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกไปตลาดอาเซียนและตลาดฮาลาล
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมได้พบปะกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนผ้าปาเต๊ะบาโงเปาะเล็ง (นินาปาเต๊ะ) อำเภอสุไหงโกลก ซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าปาเต๊ะพิมพ์มือแห่งเดียวของจังหวัด ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์และงดงาม โดยเฉพาะลายดอกไม้และใบไม้มากกว่า 1,000 แบบ และมีการผลิตผ้าปาเต๊ะที่แตกต่างจากอินโดนีเซีย ในส่วนของการพบปะกับผู้ประกอบการบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส อำเภอยี่งอ
ซึ่งเป็นโรงงานศูนย์กลางการรวบรวมและแปรรูปผลไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะใช้เทคโนโลยีแช่เยือกแข็งผลิตทุเรียนแช่แข็ง ส่งออกไปตลาดจีนและตลาดมาเลเซีย ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับผู้ประกอบการบริษัท นาราสมุทร จำกัด อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวเกรียบกรือโป๊ะ ภายใต้แบรนด์ข้าวเกรียบปลา "Befish" ถือเป็นอาหารว่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของมลายูทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ใช้เนื้อปลาทูและปลาหลังเขียวเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งรับซื้อจากชาวประมงพื้นบ้าน
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสยังเป็นแหล่งสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ มะพร้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง รวมถึงอาหารทะเลแปรรูป