เสริมคุณ คุณาวงศ์ จัดตั้งกลุ่ม Art Tank Group กลุ่มบริหารธุรกิจศิลปะครบวงจร เติมระบบนิเวศศิลปะไทย ชี้ "เทรนด์การลงทุนในศิลปะไทย" ทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุน
เปิดกลุ่มบริษัทด้านศิลปะครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทยโดยอดีต CEO และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) (CMO) บริษัทออร์กาไนเซอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผู้มีใจรักในศิลปะและหวังที่จะส่งเสริมศิลปะไทยให้ก้าวไกลระดับโลก ประเดิมงานใหญ่งานแรกด้วยการจัดประมูลภายใต้ธีมงาน The Iconic Treasure โดย บางกอก อาร์ต อ๊อกชั่น ต้นเดือนกันยายนนี้ พร้อมเปิดให้ชมผลงานชั้นเยี่ยม 60 ชิ้นงานให้ได้เลือกจับจองเพื่อการสะสมและลงทุน พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง "เทรนด์การลงทุนในศิลปะไทย" ให้กับผู้สนใจ ที่ Grandstep C asean ชั้น 10 อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก โดยมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ เยาวณี นิรันดร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ 129 Art Museum, สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ FLYNOW และโครงการช่างชุ่ย, ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และเหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บางกอก อาร์ต อ๊อกชั่น
คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป จำกัด กลุ่มบริษัทด้านศิลปะครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทยได้กล่าวถึงแนวโน้มในการลงทุนทั่วโลกที่ศิลปะได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีโดยในปี 2565 ตัวเลขวงเงินหมุนเวียนในการซื้อขายศิลปะทั่วโลกสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท รวมผลงานทั้งหมดจำนวน 36.7 ล้านชิ้น พร้อมกันนั้น การเติบโตของราคางานศิลปะทั่วทั้งอาเซียนก็มีการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ปัจจุบันมีการประมูลงานศิลปะในมูลค่าสูงมาก เช่น ผลงานของศิลปินชาวอินโดนีเซีย Raden Saleh ซึ่งปิดราคาการประมูลไปที่ 260 ล้านบาท ผลงานชื่อ Portrait de Mademoiselle Phuong (1930) โดยศิลปินชาวเวียดนามชื่อว่า Mai Trung Thu ในราคาประมูลที่สูงถึง 77 ล้านบาท และผลงานชื่อ Space Transfiguration โดย Jose Joya ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ที่ราคาประมูล 54 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยของเรายังคงมีมูลค่างานศิลปะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นมาก ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่ดีว่า งานศิลปะไทยมีราคาที่ยังสามารถขึ้นสูงมากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า จึงแนะนำให้แบ่งเงินจากการลงทุนหุ้นหรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ แล้วลองหันมาลงทุนในศิลปะไทยดู
สำหรับการตัดสินใจลงทุนในงาน เราสามารถวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มศิลปะไทยทั้งหมดเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ กลุ่มศิลปะไทยประเพณีเดิม (Thai Old Master) โดยมีศิลปินหลายท่าน เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระสรลักษณ์ลิขิต, ขรัวอินโข่ง รวมถึง ครูทองอยู่ ครูคงแป๊ะ สองครูช่างประชันวาดกั้นม่านท้าฝีมือเขียนผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ณ โบสถ์วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ริมคลองบางกอกน้อย ซึ่งผลงานศิลปะจากกลุ่มนี้มีจำนวนจำกัดมากจึงไม่เกิดการหมุนเวียนในการสะสมและลงทุน
กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Thai Modern Art) เป็นกลุ่มศิลปินที่ศึกษาเทคนิคตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เริ่มเรียนศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและหลายสถาบันที่เกิดช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้น ได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศแล้วจึงกลับมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ตามฝั่งตะวันตก อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์, เขียน ยิ้มศิริ, ชำเรือง วิเชียรเขตต์, ชลูด นิ่มเสมอ, ถวัลย์ ดัชนีย์ และ สมโภชน์ อุปอินทร์ มาจนถึงศิษย์รุ่นหลัง ๆ ของอ.ศิลป์ พีระศรี เช่น จักรพันธุ์ โปษยกฤต, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ผลงานในกลุ่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย แต่เนื่องจากศิลปินจำนวนมากได้เสียชีวิตไป จำนวนของชิ้นงานจึงจำกัด และเมื่อศิลปะไทยโดยภาพรวมมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตจะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงในที่สุด
กลุ่มถัดมา ได้แก่ กลุ่มศิลปะร่วมสมัย (Thai Comtemporary Art) กลุ่มนี้นำโดย มณเฑียร บุญมา ตามด้วย คามิน เลิศชัยประเสริฐ, นที อุตฤทธิ์, พิณรี สันพิทักษ์ และอารยา ราษฎร์จำเริญสุข และอีกคนที่สร้างความรู้จักไปทั่วโลกด้วยผลงานของเขาคือ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ผู้ให้กำเนิดลัทธิศิลปะแขนงใหม่ Relational Aesthetics หรือ "สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง" ศิลปินกลุ่มนี้นำศิลปะไทยไปสู่ความร่วมสมัยในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง งานของศิลปินในกลุ่มนี้ พวกเขาส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในระดับพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในการก้าวไปสู่การยอมรับในระดับโลก การลงทุนศิลปะในกลุ่มนี้เหมาะกับวิถีชีวิตแบบปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบในสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในแบบสมัยใหม่
กลุ่มสุดท้าย กลุ่มศิลปิน Thai Art Now มีความหลากหลายในแนวศิลปะ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Thai street art, New Pop Art, Art Toy และ Pop Surrealism เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับยุคโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโลกเป็นหนึ่งเดียว เชื่อมรสนิยมของต่างชาติต่างภาษาอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการนำศิลปะแบบ Fine art หรือ Visual Art เข้าไป ผสมผสานเชื่อมโยงกับกับสินค้าของใช้ประจำวัน เช่น ศิลปินชาวญี่ปุ่น Yayoi Kusama ที่ทำการร่วมมือ หรือ Collab กับหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส หรือ ศิลปินชาวญี่ปุ่นอีกท่าน Takashi Murakami ไปร่วมกับแบรนด์เปอริเอ้ (Perrier) น้ำแร่ธรรมชาติชนิดมีฟอง พร้อมกับกระแสของโลกนี้ ศิลปินไทยเราก็ได้ขยายบทบาทไปในทางเดียวกัน ทั้งผลงานของ ก้องกาน (กันตภณ เมธีกุล ) ที่ร่วมกับทางจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ (Johny Walker) และ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) และ ยูน - ปัณพัท เตชเมธากุล ได้ร่วมโปรเจคท์กับ Gucci ถึง 2 ครั้ง และอีกหลาย ๆ ท่าน
ทั้งหมดนี้ เป็นรุ่งอรุณของไทยที่ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ระดับโลก จะทำให้ศิลปะไทยไปไกลอีกระดับถึงแม้จะไม่ใช่ในระดับพิพิธภัณฑ์ ราคาผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ ราคาจากแกลเลอรีจะเริ่มตั้งแต่ราคาแสนต้น ๆ ไปจนถึงราคาหลักล้านต้น ๆ จึงเป็นราคาที่น่าลงทุน แต่เนื่องจาก เส้นทางของแต่ละศิลปินยังอีกยาวไกลจึงมีระดับความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่ลงทุนแล้วตอบแทนไว
ดังนั้น ผู้บรรยายมีความเห็นว่า ผู้สนใจลงทุนในศิลปะไทยให้กำหนดแนวทางในการลงทุนทั้งในทางแบบ Conservative ที่วางน้ำหนักไปที่ กลุ่มศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Thai Modern Art) 60% และแบ่งไปที่กลุ่มอื่น ๆ 40% หรือแบบ Aggressive ที่วางน้ำหนัก 60%-70% ไว้ที่ กลุ่มศิลปิน Thai Art Now และส่วนที่เหลือไปในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งคุณเสริมคุณเชื่อมั่นในศิลปะไทยว่าจะต้องไปได้อีกยาวไกลและอยากให้คนไทยสนับสนุนให้ศิลปะไทยได้ไปสู่ฝั่งฝันร่วมกัน
ทั้งนี้ สำหรับการจัดงานประมูลครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนี้โดย "บางกอก อาร์ต อ๊อกชั่น" บริษัทในกลุ่ม ART TANK GROUP จัดขึ้น ภายใต้ชื่อ The Iconic TREASURE เป็นอีกครั้งของการจัดงานประมูลของประเทศไทยที่ถูกจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 5 ได้คัดสรรผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหลายชิ้นงานจากศิลปินเรืองนามต่างยุคสมัยของไทยถึง 60 ชิ้นงาน ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2565 ณ TRUE ICON HALL Convention ชั้น 7, ไอคอนสยาม และสามารถเข้าชมนิทรรศการก่อนวันประมูล (Preview Exhibition) ได้ตั้งแต่วันที่ 8 - 11 กันยายน 2565 ณ TRUE ICON HALL Convention ชั้น 7 เวลา 11.00 น. - 21.00น.
HTML::image(
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit