กรมวิชาการเกษตร ผนึก ปคบ.อายัดสารเคมีห้ามผลิต จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง รวมมูลค่าของกลาง 2.5 ล้านบาท

07 Sep 2022

สารวัตรเกษตร  กรมวิชาการเกษตร จับมือ ปคบ. บุกตรวจ 2 ร้านค้า  อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี  หลังได้การชี้เป้าลักลอบจำหน่าย วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง พบพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส   พร้อมวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน  ตรวจยึดอายัดของกลางทั้งหมดมูลค่ารวม 2.5 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร ผนึก ปคบ.อายัดสารเคมีห้ามผลิต จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง รวมมูลค่าของกลาง 2.5 ล้านบาท

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานจากนายสงัด ดวงแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี   ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรว่า ได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก. ปคบ. เข้าตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ตามนโยบายนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สารวัตรเกษตรเร่งตรวจสอบการครอบครองวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกหลอกให้ซื้อปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพไปใช้    โดยได้รับแจ้งเบาะแสว่าในพื้นจังหวัดกาญจนบุรีมีการลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายเคมีการเกษตร (ยาฆ่าหญ้า ฆ่าวัชพืช) โดยเป็นที่รู้กันในหมู่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย โดยเรียกชื่อว่า ยากรัมม็อกโซน ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ( พาราควอต) )  ซึ่งเป็นสารเคมีทางการเกษตร ที่ได้ประกาศห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครองจึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าตรวจสอบร้านค้าและทำการตรวจค้น ดังนี้

จุดที่ 1 เข้าตรวจค้นร้านสินเกษตร เลขที่ 420 หมู่ที่ 1 ต.ด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี พบสินค้า พาราควอต วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสินค้าห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง สินค้า กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม สวมเลขทะเบียน และวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ รวมของกลางจำนวน 4 รายการ จำนวน 480 ชิ้น

จุดที่ 2 อาคารสีเขียว ไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 1 ตำบล ด่านมะขามเตี้ย อำเภอ ด่านมะขามเตี้ย จังหวัด กาญจนบุรี ผลการตรวจค้นพบ ผลิตภัณฑ์พาราควอต (Paraquat) ผลิตภัณฑ์ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ชื่อสามัญ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสินค้าห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง และวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้อีกรวม 16 จำนวนของกลาง 713 ชิ้น  จึงทำการตรวจยึด อายัด โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,500,000 บาท

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 43 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบเฉพาะกรณีเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การขออนุญาต และการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ เงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศระบุวัตถุใดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครองปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาทของผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าว ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 8 แสนบาท