วว. เพิ่มขีดความสามารถสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ วทน. แลกเปลี่ยนความรู้ แนวความคิด แนวทางปฏิบัติที่ดี จัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน

07 Sep 2022
"ขยะมูลฝอยชุมชน" เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ หนึ่งในมาตรการต่างๆที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การนำมาใช้หมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยในประเทศไทยมีการกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCGกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวง อว. เพื่อดำเนินโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตามหลัก BCG สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวความคิด ผ่านการจัดงานสัมมนา APEC Webinar "Municipal Solid Waste Management by Circular Economy Concept : การจัดการขยะมูลฝอยเทศบาลโดยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน" ในรูปแบบไฮบริด
วว. เพิ่มขีดความสามารถสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ วทน. แลกเปลี่ยนความรู้ แนวความคิด  แนวทางปฏิบัติที่ดี  จัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปกจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี สถานศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรม ในวันที่ 7 กันยายน 2565 ณ ห้องแคทรียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนาว่า กระทรวง อว. ได้รับหน้าที่ในการสนับสนุนและผลักดันนโยบายด้าน Bio-Circular-Green Economy (BCG) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia - Pacific Economic Cooperation - APEC) ในปี 2565 จึงได้สนับสนุนและผลักดันผลงานด้านการจัดการขยะชุมชนภายใต้วาระนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบการสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะและของเหลือทิ้งที่ต้นทาง รวมถึงสามารถลดปัญหาต่างๆ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน สังคม และการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย วว. เป็นหน่วยงานในสังกัด ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชน ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้ใช้โอกาสนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการรวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อใช้โอกาสนี้จัดทำกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงครบทุกมิติ สอดรับกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค คือ "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" หรือ "Open. Connect. Balance."ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังของเขตเศรษฐกิจเอเปก จึงจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งและดำเนินโครงการตาลเดี่ยวโมเดล (Tandiao Model) เพื่อนำเทคโนโลยีการจัดการขยะถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยโครงการประสบผลสำเร็จด้านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนกลับคืนสู่ชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากขยะ (Waste-to-Wealth) ประกอบด้วย เทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะเป็นวัตถุดิบรอบสอง การผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพจากขยะและบำบัดน้ำเสีย สารปรับปรุงดิน รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเหลือทิ้งเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้คืนแก่ชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งนี้การสนับสนุนและผลักดันผลงานด้านการจัดการขยะชุมชนภายใต้การสัมมนานี้ ดำเนินการผ่านการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาของการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของไทยโดย วว. และหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับภูมิภาค ให้บรรลุความสมดุลในทุกมิติอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวว่า ความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำ Lesson Learned การจัดการขยะในประเทศไทยและประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (APEC) ซึ่งขยะจัดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อันก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ให้สามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตามหลัก BCG สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้แก่ประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกที่จะร่วมมือกันต่อไป โดยที่การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในแต่ละประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เกิดความยั่งยืน และเชื่อมโยงครบทุกมิติ ในอนาคตข้างหน้างานสัมมนา APEC Webinar "Municipal Solid Waste Management by Circular Economy Concept : การจัดการขยะมูลฝอยเทศบาลโดยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน" ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากเขตเศรษฐกิจเอเปก นำเสนอเนื้อหาความรู้และแชร์ประสบการณ์ด้านการจัดการขยะชุมชน ดังนี้Prof. Takashi Nakamura, Director of Fukuoka Research Commercialization Center for recycling Systems, Japan นำเสนอกรณีศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศญี่ปุ่นตามเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า

การบริหารจัดการขยะในประเทศญี่ปุ่น ถูกกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเกิดขยะจากระบบบริหารจัดการขยะแบบเส้นตรง (Linear Model) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงถูก นำมาใช้ในการปรับปรุงระบบการจัดการขยะ โดยระบบจะแบ่งการบริหารแบบ Conventional Resource Flow และ Resource Flow in Circular Economy โดยมุ่งเน้นการนำ 3Rs เข้าสู่กลไกสังคมคาร์บอนต่ำ และการบรรจุแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรลุวัตถุประสงค์ต่อการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและภาคเอกชนด้วย Japan Partnership for Circular EconomyMr. Ray Reu, Industrial Technology Research Institute (ITRI), Chinese Taipei แบ่งปันประสบการณ์การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในไทเปว่า กระบวนการจัดการขยะมีนโยบายระบบการบำบัดและการนำกลับมาทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นความจำเป็นของข้อมูล และแนวทางความคิดต่อการทำโมเดลธุรกิจ โดยระบบการบริหารจัดการ (Way of life) ซึ่งเป็นการจัดการแบบเส้นตรง ต้องมีการพัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยประเทศ Chinese Taipei จะมีระบบการเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีระบบเตาเผา 24 แห่ง ซึ่งขยะมากกว่าร้อยละ 96 จะถูกนำมากำจัดโดยการเผาในการผลิตไฟฟ้า 9 กิโลวัตต์ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม 4 in 1 Recycling Program ตั้งแต่ (1) Community Public (2) Recycling Enterprise (3) Local Authority และ (4) Recycling Fund ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มภาคชุมชน การนำกลับมาใช้ใหม่ การรวบรวมต่อการขนส่ง รวมถึงการจัดการ Recycling Fund โดยระบบการจัดการขยะชุมชนมีตั้งแต่การรวบรวม ระบบการบำบัด และการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเน้นการเก็บค่ากำจัด ค่าถุง โดยมีค่าการเก็บต่อถุงเพื่อใช้ในการบำบัด สามารถลดปริมาณลงได้ร้อยละ 67 เพื่อนำกลับมารีไซเคิลได้สูงกว่าร้อยละ 48 ในส่วนขยะอุตสาหกรรมมีระบบการขนส่งเชื่อมต่อกับระบบ GPS ซึ่งขยะอุตสาหกรรมมีอัตราการนำกลับมารีไซเคิลได้ร้อยละ 85 โดยยังคงมีมาตรการลดขยะอุตสาหกรรมที่แหล่งกำเนิด ดังนั้น กระบวนการจัดการขยะของ Chinese Taipei มีนโยบายระบบการบำบัดและการนำกลับมาทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นความจำเป็นของข้อมูล และแนวทางความคิดต่อ การทำโมเดลธุรกิจMr. Jakob Graf Lambsdorff, CEO of ALBA Singapore ร่วมแชร์การประยุกต์ใช้การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในธุรกิจว่า

ALBA เป็นภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมรีไซเคิล โดยเป็นภาคเอกชนที่มีส่วนการทำ Smart City Solution, Plastic Recycling, Green Gas, เชื้อเพลิง และการจัดการของเสียอันตราย และส่วนการเก็บขยะพลาสติก ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์ทางการค้าได้เป็นรูปธรรมนายคงศักดิ์ ดอกบัว จากสถาบันพลาสติก นำเสนอ Roadmap ของประเทศไทยในการจัดการขยะพลาสติกว่า ในพ.ศ. 2561-2573 เป็นนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ สำหรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เป้าหมาย ได้แก่เป้าหมายที่ 1 (ปี 2562-2565) คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2562 เลิกใช้พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ Oxo เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) และเลิกใช้ Microbead จากพลาสติก ส่วนใน ปี 2565 เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง <36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้ว พลาสติก แบบบาง <100 ไมโครอน และหลอดพลาสติกเป้าหมายที่ 2 เป็นการนำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570 รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวง อว. บรรยายเรื่อง การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยมุ่งเน้นขยะมูลฝอยชุมชนว่า ประกอบด้วย 4 แผนงานย่อย ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนี้ 1) CE Champion หรือโมเดลความร่วมมือ ใน Value-chain เพื่อสร้าง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับ Value chain หรือพื้นที่ให้เป็น CE และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อการจัดการขยะชุมชนในกรุงเทพฯ โดยใช้แนวคิด CE (ปทุมวันโมเดล) 2) CE Platform หรือแพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเป็น Solution platform เพื่อสร้างขีดความสามารถ ของผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ ให้ เปลี่ยนผ่านไปสู่ CE ได้ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกและวัตถุดิบรอบสอง3.) CE Research & Innovation หรือการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้วัตถุดิบรอบสองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างงานวิจัย cross cutting หรืองานวิจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการใช้ทรัพยากร ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์จากขยะบรรจุภัณฑ์หลายชั้น เช่น โครงการรูปแบบธุรกิจหมุนเวียนจาก Polyethylene และ PET Plastic ถุงฟอยล์อลูมิเนียม ลามิเนต : r-Foil4) CE Enabling factors, Baseline data & Standards หรือการพัฒนาปัจจัยเอื้อข้อมูลฐานและมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อพัฒนาข้อมูลฐานที่สำคัญต่อการประเมิน ความก้าวหน้าหรือจัดทำมาตรฐานของ CE รวมถึงพัฒนามาตรฐาน/ตัวชี้วัด/นโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ CE เช่น โครงการพัฒนาฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน หรือระบบเครื่องหมายผลิตภัณฑ์หมุนเวียน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่า (ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รีไซเคิล รวมถึงเจ้าของแบรนด์) งานที่เกี่ยวข้องกับ CE ระดับภูมิภาค (ประเทศไทย และพันธมิตรระหว่างประเทศ) ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป บรรยายเรื่อง ธุรกิจเหมืองแร่ในเมืองที่มีการรีไซเคิลว่า กลุ่มวงษ์พาณิชย์ดำเนินงานด้านรีไซเคิลเริ่มต้นในปี พศ.2517 เป็นตำนาน 48 ปี บนพื้นที่ 12 ไร่ กับมูลค่าการลงทุนในปัจจุบันทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท และการขยายกว่า 2,300 สาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 14,000 คน กับการเก็บรวบรวมขยะแต่ละประเภทเข้ามาอย่างเป็นระบบ 1.5 ล้านตัน/ปี โดยมีแนวทางในการดำเนิน 1) ทำการศึกษาเก็บข้อมูลปริมาณผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ประเภท ชนิด ต่าง ๆ พฤติกรรมการบริโภค องค์ประกอบสัดส่วนของขยะ จากทุก ๆ ด้านเข้ามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ 2) จัดทำแผนการเก็บรวบรวมขยะชนิดต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีการวางกลยุทธ กำหนดแผนธุรกิจ แผนการตลาด โดยกลุ่มวงษ์พาณิชย์สามารถดำเนินการเก็บรวบรวมจากการรับซื้อและบริการเข้ามาได้ 1.5 ล้านตัน/ ปี(2564) ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงานในระบบให้กับคนจำนวนกว่า 14,000 คน ทำให้ธุรกิจสามารถส่งขายวัสดุสินแร่พื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมผู้ใช้ปลายทางระดับนานาชาติเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบและมลพิษจากสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน

ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตามหลัก BCG บรรยายเรื่อง แนวคิดโครงการเกี่ยวกับ BCG : การจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลโดยเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า วว.ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชน หรือ "ตาลเดี่ยวโมเดล" ซึ่งเป็นโครงการมุ่งเป้าแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ในการเป็นต้นแบบการจัดการขยะชุมชนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม การจัดการขยะชุมชน "ตาลเดี่ยวโมเดล" เป็นรูปแบบการจัดการขยะที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาปรับใช้ให้เหมาะสมในการจัดการขยะแต่ละขั้นตอน โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลักษณะขยะของประเทศไทย เน้นการเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบวัตถุดิบรอบสอง เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวคิดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth) โดยเน้นการจัดการขยะใหม่และขยะเก่าอย่างครบวงจร ใช้เทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงง่าย สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และสร้างการยอมรับแก่ชุมชน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนและเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยว่า ทิศทางการจัดการขยะของประเทศไทย มีแนวทางในการเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวด พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ ไมโครบีด ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุ อาหาร แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2570 มีเป้าหมายในการนำขยะ พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์

Mr. Peter Boerkey, Circular Economy Lead OECD Environment Directorate นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจาก Global Plastics Outlook ของ OECD ว่า จากปัญหาการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งขับเคลื่อนด้านเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนด้านนโยบาย โดยมีระบบการจัดการ ได้แก่ ส่วนการลดการใช้พลาสติกและเพิ่มระบบการหมุนเวียนนากลับมาใช้ใหม่ ส่วนสองคือการเพิ่มระบบการรีไซเคิลเพื่อป้องกันการรั่วไหล โดยลดปริมาณการปล่อยพลาสติกและมีการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกในแม่น้ำและในทะเล ซึ่งไม่เน้นแต่การหลุดลอดพลาสติกลงสู่ทะเลและยังมองถึงการหยุดลอดองสู่แม่น้ำ เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพอากาศและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจากเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย และ บริษัทฝาจีบ จำกัด (มหาชน) ในประเด็น การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกรณีศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน แนวทางการรีไซเคิลเศษพลาสติกและโลหะจากอุตสาหกรรม และการลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเลอันดามัน : โอกาสทางธุรกิจและกรณีศึกษา นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวคิดและข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำบทเรียนของการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของกลุ่มประเทศในเขตเศรษฐกิจเอเปกวว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร

0 2577 9009

เว็บไซต์

www.tistr.or.th

E-mail : [email protected]

line@TISTR IG : tistr_ig

วว. เพิ่มขีดความสามารถสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ วทน. แลกเปลี่ยนความรู้ แนวความคิด  แนวทางปฏิบัติที่ดี  จัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน