กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.45-36.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.85-36.73 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เงินยูโรและเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และ 24 ปี ตามลำดับ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเกินคาดที่ 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 41 ปี ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 100bp ในการประชุมในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ลดช่วงบวกท้ายสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 75bp มากกว่า 100bp สำหรับรอบนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,141 ล้านบาท และ 1,742 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันการปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp อาจไม่เพียงพอที่จะกดการคาดการณ์เงินเฟ้อลง อีกทั้งเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวและต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ย 100bp ในการประชุมรอบล่าสุด นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาต้นทุนการกู้ยืมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิก ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลีเป็นปัจจัยถ่วงค่าเงินยูโรเช่นกัน ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มคงนโยบายลักษณะผ่อนคลายมากเป็นพิเศษสวนทางกับกระแสโลกต่อไป อนึ่ง เราประเมินว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น ค่าเงิน หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวผันผวนต่อเนื่องขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเฟดยังเดินหน้าคุมเข้มนโยบายในช่วงอีกหลายเดือนข้างหน้าแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะที่ทางการคาดว่าเงินดอลลาร์อาจกลับมาอ่อนค่าได้หากตัวเลขเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ของ ผู้ร่วมตลาดต่อการดำเนินนโยบายของเฟดเริ่มเปลี่ยนไป