กรมวิชาการเกษตร จัดพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 พร้อมมอบเงินรางวัลและประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัล เป็นปีที่ 2 ได้ผู้ชนะเลิศกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาคุณภาพดีทั้งกลิ่นและรสชาติชั้นเลิศ ผู้ชนะรับถ้วยพระราชทานพร้อมเงินรางวัล พร้อมนำกาแฟคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกไปจัดแสดงให้ชิมในงานมหกรรมพืชสวนโลก EXPO 2022 Floriade Almere ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ดันกาแฟอัตลักษณ์ไทยสู่เวทีกาแฟระดับโลก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 พร้อมมอบเงินรางวัลและประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัล เป็นปีที่ 2 ว่า จากผลสำเร็จของการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปีที่ผ่านมาของกรมวิชาการเกษตร ส่งผลทำให้มีการนำกาแฟที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับที่ 1-10 จากการประกวดไปจัดประมูล โดยกาแฟโรบัสตาได้ราคาประมูลสูงถึงกิโลกรัมละ 20,000 บาท และผลที่เห็นในเชิงประจักษ์ คือ เกษตรกรสามารถจำหน่ายกาแฟได้ในราคาที่สูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ และไม่มีผลผลิตคงค้างเหมือนในอดีต เกษตรกรได้เรียนรู้และมีการพัฒนาการผลิตกาแฟพิเศษ หรือ specialty coffee มากขึ้น โดยเฉพาะในกาแฟโรบัสตา. ตลอดจนกาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้ที่นิยมบริโภคกาแฟพิเศษที่มีอัตลักษณ์ของเฉพาะถิ่น เกิดการเชื่อมโยงตลาด และลดช่องว่างระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟกับผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตกาแฟที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งสามารถกำหนดราคาขายได้หากมีการพัฒนาการผลิตและการแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของตลาดการบริโภคกาแฟพิเศษ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 เพื่อค้นหาเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี ตั้งแต่ต้นทางการปลูกกาแฟ รวมถึงรสชาติกาแฟจนได้เป็นเมล็ดกาแฟไทยเกรดพิเศษ อีกทั้งเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสวน การผลิตกาแฟตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ถือเป็นการยกระดับคุณภาพกาแฟไทยให้มีอัตลักษณ์ของกาแฟเฉพาะถิ่น คุณภาพดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ และความยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย
การจัดการประกวดในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้คัดสรรสุดยอดเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา และโรบัสตาจากแหล่งปลูกทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้มีเกษตรกรส่งกาแฟเข้าร่วมประกวด จำนวนตัวอย่างกาแฟที่ส่งประกวด 245 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกาแฟอะราบิกา 184 ตัวอย่าง และกาแฟโรบัสตา 61 ตัวอย่าง สำหรับเมล็ดกาแฟที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 1-10 อันดับ จะนำไปทำการประมูลในวันนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟและผู้บริโภคกาแฟที่สนใจได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กาแฟชั้นเลิศ พร้อมชิมรสชาติของสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 ที่ผ่านการตัดสินจากผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟที่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการจัดโรดโชว์กาแฟของผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกของแต่ละประเภท จะได้รับสิทธิพิเศษในการนำผลิตภัณฑ์กาแฟไปประชาสัมพันธ์ร่วมจัดแสดงให้ชิมในงานมหกรรมพืชสวนโลก EXPO 2022 Floriade Almere ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์กาแฟไทยสู่เวทีกาแฟสากลระดับโลกต่อไป
ในปีนี้ผลการตัดสินผู้ที่ได้คะแนนประเมินคุณภาพกาแฟสูงสุด 3 ลำดับแรกในแต่ละประเภท และได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลที่ 1 จำนวน 50,000 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 30,000 บาท รางวัลที่ 3 จำนวน 10,000 บาท ได้แก่ กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง (dry/natural process) รางวัลที่ 1 นางสาวบงกชษศฎา ไชยพรหม คะแนน 86.94 รางวัลที่ 2 นายอะแป๊ะ หรี่จา คะแนน 86.56 รางวัลที่ 3 สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด คะแนน 86.31 กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก (wet/fully wash process) รางวัลที่ 1 นายวิชา แสนรุ่งอรุณ คะแนน 85.64 รางวัลที่ 2 นางสาวบงกชษศฎา ไชยพรหม คะแนน 85.23 รางวัลที่ 3 นางนภาพร กำเนิดมงคล คะแนน 85.08 กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (semi-dry/honey process) รางวัลที่ 1 นายวิชัย กำเนิดมงคล คะแนน 87.29 รางวัลที่ 2 นายอานนท์ พวงแสน คะแนน 86.11 รางวัลที่ 3 นายสมชาย ผกายศรสกุล คะแนน 85.45 กาแฟโรบัสตา รางวัลที่ 1 นายนภัทรินทร์ รัตนพรนภาพันธ์ คะแนน 85.65 รางวัลที่ 2 วิสาหกิจชุมชนกาแฟไร่ดอยน่าน คะแนน 84.65 รางวัลที่ 3 นายธนาสิทธิ์ สอนสุภา คะแนน 83.30 และนางสาวจันจิรา นันทะ คะแนน 83.30สำหรับผลการพิจารณาผู้มีสิทธิ์ได้ประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร มีจำนวนทั้งสิ้น 233 รายการ แบ่งเป็น 3 ระดับ ตามเกณฑ์ได้รับรางวัลตามมาตรฐานการตัดสินของสมาพันธ์กาแฟโลก (Specialty Coffee Association : SCA) คือ กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง (dry/natural process) ประกาศนียบัตรเหรียญทอง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับโดดเด่น (Outstanding) ไม่มีผู้ได้รับ ประกาศนียบัตรเหรียญเงิน ประเภทคุณภาพกาแฟระดับยอดเยี่ยม (Excellent) จำนวน 5 ราย ประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (Very Good) จำนวน 36 ราย และประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 14 ราย กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก (wet/fully wash process) กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง
(dry/natural process) ประกาศนียบัตรเหรียญทอง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับโดดเด่น (Outstanding) ไม่มีผู้ได้รับ ประกาศนียบัตรเหรียญเงิน ประเภทคุณภาพกาแฟระดับยอดเยี่ยม (Excellent) จำนวน 3 ราย ประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (Very Good) จำนวน 53 ราย และประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 8 ราย กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (semi-dry/honey process) ประกาศนียบัตรเหรียญทอง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับโดดเด่น (Outstanding) ไม่มีผู้ได้รับ ประกาศนียบัตรเหรียญเงิน ประเภทคุณภาพกาแฟระดับยอดเยี่ยม (Excellent) จำนวน 4 ราย ประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (Very Good) จำนวน 40 ราย และประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 6 ราย
ส่วนผลการพิจารณาผู้มีสิทธิ์ได้ประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร ประเภทกาแฟโรบัสตา ประกาศนียบัตรเหรียญทอง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับโดดเด่น (Outstanding) ไม่มีผู้ได้รับ ประกาศนียบัตรเหรียญเงิน ประเภทคุณภาพกาแฟระดับยอดเยี่ยม (Excellent) จำนวน 1 ราย ประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (Very Good) จำนวน 12 ราย และประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 39 ราย ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้ประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตรในทุกประเภท ได้ที่ https://www.doa.go.th/hort/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit