สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนุนทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตคิดค้นนวัตกรรมในการคัดแยกขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีในการคัดแยก สู่กระบวนการกรรมวิธีนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ จากพลาสติกรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่ม แถมยังช่วยพัฒนาระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในทะเล และเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ จะนำมาแสดงในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 "
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐในการให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิตประจำวัน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม และสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจด้วยฝีมือคนไทย จากสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง จากปัญหาขยะล้นเมืองจำพวกพลาสติกที่ย่อยสลายยาก กระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่พบว่าทุกวันนี้ยังมีขยะจำพวกพลาสติกลอยเกลื่อนอยู่ในทะเลและบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง วช. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรมถังแยกขยะอัจฉริยะ สู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติก
รศ.ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ ในฐานะเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวขึ้นมาเปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญก็เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรเชิงพื้นที่ ให้บรรลุเป้าหมาย zero plastic waste ทั้งนี้มองว่าปัญหาการตกค้างขยะในทะเล ( marine debris ) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต และการตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสัตว์เศรษฐกิจ สามารถส่งผลสะท้อนกลับมายังมนุษย์ในที่สุด นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาพลาสติกตกค้างจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการกันทุกภาคส่วน โดยการพัฒนานำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมคัดแยกขยะอย่างมีระบบครบวงจร ทางทีมงานวิจัยจึงได้ช่วยกันประดิษฐ์คิดค้นถังขยะอัจฉริยะแบบปัญญาประดิษฐ์ รถกวาดขยะชายหาด และเรือเก็บขยะในทะเลไร้คนขับ จากนั้นนำขยะที่รวบรวมได้จากบริเวณชายหาด เข้าสู่กระบวนการกรรมวิธีเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่น นำมาผสมกับคอนกรีตเพื่อทำเป็นอิฐตัวหนอนปูพื้นและขอบถนนคอนกรีต ซึ่งมีความทนทาน นอกจากนี้ยังนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเก้าอี้และกระถางต้นไม้
สำหรับพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ขณะนี้ได้นำถังแยกอัจฉริยะแบบปัญญาประดิษฐ์ ไปติดตั้งใช้งานที่ เทศบาลเมืองแสนสุข และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งหากผลออกมาสามารถช่วยแก้ปัญหาขยะตกค้างและคัดแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะขยายผลต่อยอดนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและสร้างมูลค่าเพิ่มรวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อื่นๆ ต่อไป สำหรับใครที่สนใจในผลงานนวัตกรรมนี้สามารถเข้าร่วมชม ได้ที่งาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) " ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ.ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit