คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นพัฒนานวัตกรรมชื่อว่า "เรียนรู้" อุปกรณ์บำบัดผู้ป่วยทางสมองยุคดิจิทัลสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมองผ่านการเล่นเกมที่ออกแบบวิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางสมองมากขึ้นทุกปี ทั้งความผิดปกติทางสมองตั้งแต่กำเนิด เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม รวมทั้งโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตัน โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งการบำบัดฟื้นฟูต้องทำในระยะยาวและอาศัยการเอาใส่ใจดูแลต่อเนื่อง คาดส่งมอบแก่ 100 โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการนี้ในช่วงสิ้นปี 2565
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีคนไข้ทางสมองสะสมรวม 7-9 แสนคน โดยเป็น เด็กกว่า 5 แสนคน ซึ่งอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียนและมักมีอุปสรรคทางสุขภาพที่ทำให้เรียนรู้ช้า หรือบกพร่องทางการเรียนรู้ น้องๆจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ เราจึงมุ่งเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสช่วยให้เด็กไทยเหล่านี้ ได้พัฒนาการเรียนรู้ เป็นที่มาของนวัตกรรมที่ชื่อว่า "เรียนรู้" คิดค้นพัฒนาโดย ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ออกแบบพัฒนาขึ้นตามความต้องการของนักกิจกรรมบำบัด หรือผู้ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเด็กพิเศษและผู้ป่วยทางสมองได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศไทยยังขาดแคลน นักกิจกรรมบำบัดอีกมาก นวัตกรรม "เรียนรู้" พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่ซับซ้อน ใช้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้ภายในประเทศและนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทดแทนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ราคาสูงมากจากต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนภารกิจอันเหน็ดเหนื่อยของบุคคลากรทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำช่วยน้องเด็กพิเศษและผู้ป่วยทางสมองได้เข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ โดยมี รพ.และศูนย์สุขภาพชุมชนจากทั่วประเทศอีก 100 แห่ง เข้าร่วมโครงการนี้
ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ลักษณะนวัตกรรม"เรียนรู้" เป็นโมบายแอพพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ภายนอก (ปุ่มกด) ออกแบบในรูปของเกมที่สนุก เพื่อใช้บำบัดเด็กพิเศษ เช่น เด็กสมาธิสั้น และเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ "นักกิจกรรมบำบัด" นำไปใช้พัฒนาน้องผู้ป่วยทางสมอง แทนการบำบัดแบบเดิมได้ ช่วยลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการบำบัดได้อย่างมาก ข้อดีของ นวัตกรรม "เรียนรู้" จะกระตุ้นให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้นจากการเล่นเกมผ่านแอพพลิเคชั่น "เรียนรู้" ในรูปแบบแท็บเลต ทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมภายนอก(ปุ่มกด) เพื่อใช้ในการตอบคำถาม ปุ่มนี้ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการออกแบบการฝึก นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยฟื้นฟูผู้ใหญ่ที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้อีกด้วย
ส่วนประกอบนวัตกรรม "เรียนรู้" มี 1. แท็บเล็ต หรือ กล่องแอนดรอยด์+ทีวี และ 2. ปุ่มกด 3 ปุ่ม สำหรับกดคำตอบ วิธีการใช้งาน นั้นสามารถทำได้ง่าย เพียงเข้าไปในแอพพลิเคชั่น "เรียนรู้" ในแท็บเล็ต และเลือกหมวดการเรียนที่ต้องการ โดยออกแบบเป็น 6 หมวด ให้เลือก เรียงลำดับตามหลักการจากความง่ายไปยาก ดังนี้ 1. หมวดเสียง จะมีเสียงของสัตว์นานาชนิดๆ ให้เลือกว่าเสียงที่ได้ยิน เป็นเสียงของสัตว์อะไร 2. หมวดสี ให้แยกสี จับคู่สี 3. หมวดรูปทรง จะเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม 4. หมวดแยกแยะ โดยให้จับกลุ่ม สัตว์ สิ่งของ หรือ ผลไม้ 5. หมวดจำนวน เป็นตัวเลข โดยให้บวก ลบ 6. หมวดเขียน เป็นการฝึกเขียนตัวอักษร ก-ฮ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการพัฒนาหมวดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก
คุณนันทวรรณ รุ่งวิริยะวงศ์ นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลนครปฐม กล่าวว่า รพ.นครปฐม ได้นำนวัตกรรม "เรียนรู้" มาประยุกต์ใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเด็กพิเศษ โดยเฉพาะใน เด็กสมาธิสั้น ซึ่งมักจะมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น คุมตัวเองไม่ค่อยได้ ขาดสมาธิ ไม่จดจ่อกับกิจกรรม ทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ โดยแต่ก่อนจะสอนเด็กพิเศษโดยการใช้ Flash Cards หรืออุปกรณ์ ซึ่งมีข้อด้อย คือต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมอุปกรณ์ สำหรับเรียนรู้ หมวดหมู่ต่างๆ และในหมวดตัวอักษร รวมถึงการเลียนเสียงสัตว์ ซึ่งเป็นการเลียนเสียงสัตว์ที่ทำโดยเสียงคนซึ่งไม่เหมือนของจริง แต่เมื่อได้ลองใช้ นวัตกรรมใหม่ "เรียนรู้" กับเด็กพิเศษพบว่าเด็กได้ฝึกการสังเกตรวมถึงฝึกการควบคุมตนเอง เนื่องจากลักษณะของ "เรียนรู้" เป็นบทเรียนที่สอดแทรกในรูปแบบเกม มีลูกเล่นต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกอยากติดตามต่อเนื่องและเพลิดเพลิน เป็นการฝึกฝนให้เด็กๆสามารถรอได้ นอกจากนี้มีผู้ปกครองหลายท่านสนใจ "เรียนรู้" อยากได้กลับไปให้บุตรหลานเล่นที่บ้าน นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประโยชน์มากค่ะ
คุณราเมศร์ เรืองอยู่ นักกิจกรรมบำบัดศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นศูนย์ชำนัญพิเศษของสภากาชาดไทย ซึ่งให้บริการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความบกพร่องหรือความพิการทางร่างกาย หรือผู้ที่มีสภาวะถดถอยเรื่องความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง จากภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองหรือไขสันหลัง ภาวะโรคเรื้อรังทางอายุรกรรมต่างๆ ก่อนหน้านี้ คณะวิศวะมหิดล เคยมอบ นวัตกรรม "ฝึกฝน" ที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานของแขนและมือได้ผลดียิ่ง ทำให้ผู้ป่วยไม่เบื่อหน่าย และช่วยบำบัดการรักษาได้จริง สำหรับนวัตกรรม "เรียนรู้" นี้ เราใช้บำบัดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาการรับรู้ ซ้าย ขวา ตำแหน่ง การนับจำนวน การแยกรูปทรง การแยกหมวดหมู่ จากการที่ใช้นวัตกรรม "เรียนรู้" บำบัดผู้ป่วย เราพบว่า ตอบโจทย์ทางบำบัดทางการแพทย์เป็นอย่างมาก มีรายละเอียดการบำบัดเบื้องต้นครบถ้วนและสามารถใช้งานได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมอง ฝึกการแยกแยะ ออกมาในรูปแบบเกม ทำให้ได้ฝึกคิดก่อนตอบ ช่วยให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยทางสมองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงแรกคณะวิศวะมหิดล ได้ส่งมอบต้นแบบนวัตกรรม "เรียนรู้" แก่ 2 รพ. คือ รพ. นครปฐม โดยมี แพทย์หญิง ภัสรี พัฒนสุวรรณา แพทย์ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมฟื้นฟู และ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ซึ่งมี แพทย์หญิง ขวัญยุพา สุคนธมาน รองผู้อำนวยการ เป็นผู้รับมอบ โดยมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดและศูนย์สุขภาพชุมชนจากทั่วประเทศอีก 100 แห่ง เข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบได้ในช่วงปลายปี 2565
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit