หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ดเผย 4 ผลกระทบหลักจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19ที่ไม่ใช่มาตรการทางการแพทย์ พร้อมถอดบทเรียนในการก้าวผ่านวิกฤติและข้อเสนอแนะไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากมาตรการเพื่อยับยั้งและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่ใช่มาตรการทางการแพทย์ อาทิ มาตรการการกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคม และการจำกัดการเดินทาง ฯลฯ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก ว่ามีผลกระทบหลักต่อประชาชนชาวไทย 4 ประการหลักด้วยกัน ได้แก่ 1. ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากความขัดสนทางด้านการเงิน 2. ปัญหาด้านสุขภาวะทางจิตและอารมณ์ ได้แก่ ปัญหาความเครียด ความเหงาและความท้อแท้ 3. ปัญหาทางด้านสังคม อาทิ การถูกสังคมตีตราและเย้ยหยัน และ 4. ปัญหาจากความกลัวที่จะได้รับการติดเชื้อโควิด-19
ดร. เพ็ญศรี เนมิรัชต นักวิจัยหลักจากหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า "ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากความขัดสนทางด้านการเงิน เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและก่อให้เกิดความท้าทายต่อประชาชนไทยมากที่สุด โดยผู้เข้าร่วมวิจัยหลายรายได้สะท้อนตรงกันว่าประสบปัญหาทางด้านการเงิน โดยมีสภาวะการเงินที่ขัดสนขึ้น หรือขาดรายได้ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ประกอบการและแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ด แรงงานที่มีรายได้แบบรายวัน กลุ่มแรงงานอิสระ และกลุ่มแรงงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ พนักงานนวด ไกด์ และล่าม
นอกจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางด้านสุขภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ก็ถือเป็นปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่ง ทั้งสภาวะความเครียด เหงาและท้อแท้ จากการต้องกักตัวเพียงลำพัง และสภาวะความเครียดจากสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่ง ดร. เพ็ญศรี กล่าวว่า ปัญหาทางด้านสุขภาวะทางอารมณ์และจิตใจถือเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะจากการศึกษาวิจัยเชิงลึก พบว่า ปัญหาเหล่านี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การเกิดสภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความตื่นตระหนก สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ความคิดฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตาย เป็นต้น
การวิจัยฯ ยังพบปัญหาด้านความอับอายจากการถูกตีตราและเย้ยหยันจากสังคม ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยหลายรายเปิดเผยถึงความอับอายจากการถูกสังคมตีตราและเย้ยหยันในช่วงวิกฤติโควิด เพียงเพราะตนเป็นผู้ที่ต้องสงสัยหรืออยู่ในกลุ่มต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข
ผู้เข้าร่วมวิจัยที่อยู่กับครอบครัวขนาดใหญ่ หรือมีผู้สูงอายุ และเด็กอาศัยอยู่ด้วยกันในครอบครัวยังเปิดเผยถึงความวิตกกังวลและกลัวที่จะนำเชื้อโควิด ไปติดเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว ผู้เข้าร่วมวิจัยรายหนึ่งเปิดเผยว่าตนรู้สึกกลัวการติดเชื้อเป็นอย่างมากเพราะตนอยู่กับพ่อแม่ที่สูงอายุ การได้รับเชื้อจะทำให้เกิดการกระจายเชื้อไปสู่ผู้ที่เป็นที่รักในครอบครัว ผู้เข้าร่วมวิจัยอีกรายหนึ่งกล่าวว่าตนรู้สึกกลัวการติดเชื้อเป็นอย่างมากจนเกิดความเครียด เพราะตนมีลูกเล็กที่บ้าน ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรหากติดเชื้อ
การวิจัยยังได้เปิดเผยถึงการก้าวผ่านวิกฤติและวิธีการรับมือของประชาชนไทยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้วิธีการที่ผสมผสานทั้งการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด เช่น การใช้มาตรการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจหาเชื้อ ฯลฯ การหาวิธีลดผลกระทบจากความขัดสนทางการเงิน การหาวิธีลดความเครียด และบรรเทาสุขภาพจิตตนเองโดยใช้ความเชื่อ ศรัทธา และคำสอนตามหลักศาสนาเข้ามาช่วย โดยผู้เข้าร่วมวิจัยหลายรายเปิดเผยถึงวิธีการรับมือกับความทุกข์ ความเครียดที่ผ่านมาโดยใช้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเข้ามาจรรย์โลงจิตใจ เช่น การนั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังธรรม ผู้เข้าร่วมวิจัยรายหนึ่งกล่าวว่า เน้นหลักเรื่องสัจธรรม ทำใจยอมรับว่าทุกอย่างไม่เที่ยง อยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะเมื่อโควิดหมดไป ก็อาจมีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นได้อีกเสมอ
ในส่วนของการแบ่งปันช่วยเหลือกันเองในชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจต่อกันของคนไทย "คนไทยไม่ทิ้งกัน" นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนไทยก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยผู้เข้าร่วมวิจัยหลายรายกล่าวว่าเขาได้เห็นกิจกรรมความช่วยเหลือใหม่ๆ ให้แก่คนในชุมชนมากมาย และได้มีส่วนร่วม ทั้งการเป็นผู้ให้ และ ผู้รับ เช่น ตู้ปันสุข หรือการเปิดโรงอาหารการแจกสินค้าให้แก่ผู้คนที่ต้องการ
แนะภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง ให้ความช่วยเหลือให้ถึงกลุ่มรากหญ้า
ดร. เพ็ญศรี ยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยผ่านไปยังภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ ด้านข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ โดยข้อมูลข่าวสาร สถิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ มาตรการรักษาตามสิทธิที่ประชาชนพึงได้ รวมถึงมาตรการการรักษาต่างๆ ที่ภาครัฐสนับสนุนจะต้องมีความชัดเจนและถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง เพราะการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ชัดเจนจากภาครัฐจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และเกิดความสับสนต่อการปฎิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข ด้านการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ โดยการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐต้องทำให้เข้าถึงกลุ่มรากหญ้าและกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดจริงๆ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการและแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ กลุ่มแรงงานอิสระ และกลุ่มแรงงานที่ทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มธุรกิจขายอาหารแนวสตรีทฟู้ดส์ กลุ่มผู้ทำงานกลางคืนและธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ กลุ่มครอบครัวขยาย และกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นต้น ด้านการบรรเทาทางอารมณ์และจิตใจ โดยจัดกิจกรรมเพื่อบำบัดความทุกข์หลังจากวิกฤติโควิด กิจกรรมการบำบัด บรรเทาหรือมีการรณรงค์วิธีการรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้า และความหดหู่ มีการให้ข้อมูลเพื่อลดความเครียดและความวิตกกังวล มีสายด่วนเพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดจากความเครียด มีการจัดกิจกรรมโดยร่วมกับวัดหรือผู้ทรงอิทธิพลทางด้านจิตใจให้แก่ประชาชน เช่น การสวดมนต์ เผยแพร่ธรรม และสร้างกลุ่มบำบัดที่สามารถพบปะกันได้แบบออนไลน์ เป็นต้น และสุดท้าย ด้านการปฏิบัติตนในสังคมและชุมชน การสร้างความอับอายหรือการถูกรังเกียจจากสังคม อาจเป็นปัญหาให้ผู้ติดเชื้อไม่กล้ารายงานหรือเข้ารับการรักษาตัวอย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุข จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาที่บานปลายออกไป การให้ข้อมูลที่ถูกต้องถึงแนวปฎิบัติของประชาชนต่อผู้อื่นเมื่อมีการติดเชื้อในชุมชนจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ดร. เพ็ญศรี ยังได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราคนไทยก็สามารถฟันฝ่าความยากลำบากในวิถีแบบไทย ๆ ไปได้ด้วยดี เพราะความมีน้ำใจต่อกันของคนไทย "คนไทยไม่ทิ้งกัน"
ท่านที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มในหัวข้อ "Like a wake-up call for humankind": Views, challenges, and coping strategies related to public health measures during the first COVID-19 lockdown in Thailand" พร้อมพบกับมุมมองอื่นที่น่าสนใจได้ที่: https://journals.plos.org/globalpublichealth/article?id=10.1371/journal.pgph.0000723
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit