ในโลกของการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องพึ่งข่าวสารดิจิทัลแต่มีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง เรื่องของการพัฒนา "ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย" เพื่อให้สมาชิกของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย สามารถ "อยู่อย่างเข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง หนึ่งใน "ทักษะที่จำเป็นของการเป็นพลเมือง" ของคนรุ่นใหม่ในโลกยุคดิจิทัลว่า จะต้องมีทักษะในการพิจารณาข้อมูลข่าวสาร "สนใจ-แยกแยะ-เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง"
ซึ่งพื้นฐานสำคัญของ "อยู่อย่างเข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" คือการฝึกการรับฟัง ทำความเข้าใจในมุมมองต่างๆ และการตัดสินใจโดยใช้เหตุผล รวมทั้งการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์อย่างร่วมมือ และเอื้ออาทร
ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) ได้มีความพยายามผลักดันการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภายใต้การจัดการเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการ ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนากระบวนการความคิดที่เป็นระบบ และเปิดกว้าง เพื่อหา "จุดร่วม" และก้าวข้าม "จุดต่าง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่เปิดสู่ภูมิภาค
โดยปัจจุบันนอกจากหลักสูตรปริญญาโทภาษาไทย ที่เปิดสอนด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ยังได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสู่หลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติในด้านเดียวกัน นอกจากนี้ยังจัดให้มีหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติที่เน้นการทำวิจัยประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย
รวมทั้งหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเอเชียแปซิฟิค 4 แห่ง โดยหลักสูตรนานาชาติทั้ง 3 หลักสูตรเปิดรับนักศึกษาจากทั่วโลก
ในส่วนของงานวิจัยที่ อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ได้รับทุนจาก The British Academy สหราชอาณาจักรสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ส่งเสริมแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยในรั้วสถาบันอุดมศึกษาไทย
โดยได้ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ภายใต้โครงการ"การใช้แนวทางการสอนแบบชุมชนสืบสอบเชิงปรัชญาเพื่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์และการสร้างพลเมืองประชาธิปไตย" หรือ CoPE
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ มองว่า ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่ที่ได้รับการพิจารณาสนับสนุนเป็นลำดับต้นๆ มักทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ในขณะที่งานวิจัยเพื่อสังคมยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งการส่งเสริมแนวคิดเรื่องสิทธิพลเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน
โครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในระยะแรกแล้ว โดยได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านความเป็นพลเมืองและความคิดเชิงวิพากษ์ผ่านกระบวนการสืบสอบเชิงปรัชญาทาง https://thaicope.wordpress.com
ปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นคู่มือ "พลเมืองช่างคิด: การสืบสอบเชิงปรัชญากับพลเมืองประชาธิปไตย" จำนวน 1,000 เล่มเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านพลเมืองประชาธิปไตยสู่วงกว้าง
โดยเตรียบมอบคู่มือให้กับสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย และมีแผนที่จะเผยแพร่ให้กับครูผู้สอนที่สนใจผ่านเครือข่าย Thai Civic Education และในงานมหกรรมทางการศึกษาซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะกลับมาจัดขึ้นในรูปแบบปกติ onsite ต่อไป
"ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงการรอคอยคำตอบ แต่คือการลุกขึ้นมา "ตั้งคำถาม" "ทำความเข้าใจ" และ "มีส่วนร่วม" ในฐานะพลเมือง
โดยสถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ที่ปลูกฝัง "การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ " ของคนทุกคน และสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่วัยเยาว์" อาจารย์ ดร.วัชรฤทัยบุญธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit