นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปลี่ยนวิกฤตโควิดเป็นโอกาส รวมตัวปั้นธุรกิจออนไลน์ขายชีทสรุปวิชากฎหมาย ยอดขายดีจนเกิดดิสรัปต์ เล็งขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคณะอื่นๆ
การแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเป็นวิกฤตสำหรับหลายธุรกิจที่จำต้องลดขนาดหรือปิดตัวลง แต่ก็เป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่น "Puka E-Books" ธุรกิจจำหน่ายชีทสรุปบทเรียนวิชากฎหมายออนไลน์ที่ตอบโจทย์โดนใจนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดิสรัปวิถีธุรกิจรูปแบบเดิมจนทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของ Puka ธุรกิจชีทสรุปวิชากฎหมาย
ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องด้วยการเรียนกฎหมายมีเนื้อหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชีทสรุปเป็นที่นิยมสำหรับนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โดยนิสิตมักจะซื้อชีทสรุปตามร้านถ่ายเอกสารในคณะเพื่อทบทวนเนื้อหาสำหรับการเตรียมตัวสอบ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอนออนไซต์ หลายกิจการในรั้วมหาวิทยาลัยก็พลอยต้องปิดตัวลงชั่วคราว รวมทั้งร้านถ่ายเอกสารที่จัดจำหน่ายชีทสรุปวิชาเรียนด้วย แต่เพราะยังมีการสอบ ความต้องการชีทสรุปวิชากฎหมายจึงยังคงมีอยู่
Pain point นี้ทำให้นิสิตจุฬาฯ 4 คน รวมตัวกันปั้นธุรกิจเล็กๆ ในนาม "Puka E-Books" เพื่อเป็นพื้นที่ในการจัดจำหน่ายชีทสรุปบทเรียนวิชากฎหมาย
"เราสร้าง marketplace ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายชีทสรุปรายวิชาต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน LINE Shop" พสิน ฉันทชัยวัฒน์ กล่าวถึงเป้าหมายที่ก่อตั้ง Puka E-Books ร่วมกับเพื่อนๆ นิสิตชั้นปีที่ 4 อีก 3 คน ได้แก่ วนาลี พรมสุรินทร์ ภัทรภณ ป้องขันธ์ จากคณะนิติศาสตร์ และ วีระพล วนมณฑล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
"Puka" มาจากคำว่า "pukapuka" ในภาษาเมารีซึ่งแปลว่า "หนังสือ" พสิน เล่าความหมายของชื่อธุรกิจ
"มันเท่ตรงที่ว่าคำว่า pukapuka ถ้าพูดจำนวนหลายครั้งมากขึ้น มันจะมีความหมายเป็นอย่างอื่น เช่น ถ้าพูดคำนี้ 4 ครั้ง มันจะแปลว่าหนังสือเรียน ถ้าพูด 6 ครั้ง แปลว่าร้านหนังสือ มันก็เหมือนกับการที่เราต่อยอดธุรกิจ ต่อยอดหนังสือได้มากขึ้น"
ไอเดียจากนิสิต เพื่อนิสิต
แต้มต่อสำหรับ Puka E-Books อยู่ที่ความเป็นนิสิต จากประสบการณ์ตรงในการเรียนการสอบ พวกเขาเข้าใจดีว่าเพื่อนๆ และน้องๆ นิสิตต้องการอะไร ประกอบกับการติดตาม feedback ของนิสิต พวกเขาปรับปรุงพัฒนาชีทสรุปหลายๆ แบบและหลายๆ วิชา ที่มีมาก่อนหน้านี้ และเพิ่มเติมชีทใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนิสิตมากยิ่งขึ้น
"เราคัดกรองคุณภาพของชีทสรุปให้ได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น คือต้องอ่านง่าย เข้าใจง่าย มีเนื้อหาสรุปของรายวิชานั้นๆ อย่างครบถ้วน" หนึ่งในทีมงาน Puka วีระพล นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เผยแนวทางคัดเลือกชีทให้ตรงใจกลุ่มนิสิต นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ก่อตั้งธุรกิจ ปัจจุบัน Puka E-Books มีชีทสรุปรายวิชาเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แล้วกว่า 100 ฉบับ!
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้สรุปชีทวิชาในคณะนิติศาสตร์เป็นนิสิตรุ่นพี่ที่ผ่านการเรียนและสอบวิชานั้นๆ มาแล้ว โดยทีมงาน Puka ร่วมกันคัดสรรและจัดรูปแบบชีทให้น่าอ่าน นอกจากนี้ Puka ยังทำเพจ Puka E-Books นำเสนอสาระเกี่ยวกับการสอบและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย เป็นบริการเสริมให้กลุ่มนิสิตด้วย
"พวกเรามองว่าธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้จากคนที่ทำชีทสรุป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ในคณะไปสู่รุ่นน้อง" พสิน กล่าวถึงคุณค่าหลักของธุรกิจ
การแบ่งเวลาในการเรียนและการทำงาน
ทีม Puka ช่วยกันทำงานโดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การออกแบบดีไซน์ การตลาด และงานในส่วนออกแบบการวิจัยและพัฒนา R&D (Research and Development) แม้จะเรียนมาทางด้านนิติศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ทุกคนก็พร้อมเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดในส่วนที่ยังไม่รู้ เช่น เรื่องการทำธุรกิจและการตลาด
วนาลี สมาชิกหญิงเพียงหนึ่งเดียวของ Puka ผู้ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการตลาด กล่าวว่า "จุฬาฯ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เราได้รับความช่วยเหลือเยอะมาก ทั้งจากคณาจารย์ รุ่นพี่ศิษย์เก่า network และคอนเนคชันจากบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างในคณะนิติศาสตร์ ก็มีอาจารย์หลายๆ ท่านที่คอยช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ รวมไปถึง CU Innovation Hub ที่ให้ know-how ในการทำธุรกิจตั้งแต่ตอนที่ Puka ยังเป็นแค่ Idea ธุรกิจด้วยซ้ำ"
ปัจจุบัน สมาชิกในทีมใกล้จะจบการศึกษาแล้ว บ้างกำลังฝึกงาน บ้างกำลังทำโปรเจกต์เพื่อจบการศึกษา พวกเขาจึงต้องบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งเรียนและทำธุรกิจ
"เวลาของทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ เราออกแบบขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน แม้จะยืดหยุ่นได้แต่ก็ต้องชัดเจนเรื่องเดดไลน์ เราจัดสรรเวลาในการประชุมทีมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กำหนดเวลาและหัวข้อที่จะคุยกันให้ชัดเจน เน้นใจความสำคัญ และดูให้การประชุมเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพราะทุกคนมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ" พสิน เล่าแนวทางการทำงาน
ผลตอบรับการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
พสิน กล่าวว่าจากตัวเลขที่ทางทีมเคยสำรวจภายในคณะนิติศาสตร์ นิสิตแทบทุกคนรับรู้ช่องทางการเข้าถึง Puka E-books ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงนิสิตให้ เข้ามาซื้อสินค้าได้มากถึง 20-30 % จากทั้งหมด นอกจากนี้อัตราการซื้อซ้ำเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนิสิตที่เคยซื้อ ทีมถือว่าพวกเขาค่อนข้างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ทีม Puka มองว่าตลาดภายในคณะนิติศาสตร์ใกล้จะถึงจุดอิ่มตัว พวกเขาจึงเล็งขยายธุรกิจไปยังคณะอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
การเติบโตของ Puka ก่อให้เกิดการแข่งขัน ในแวดวงธุรกิจขายชีทสรุป โดยเกิดคู่แข่งในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น
"ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจการจัดจำหน่ายชีทสรุปในรูปแบบออนไลน์ ได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจจำหน่ายชีทสรุปในรูปแบบดั้งเดิมภายในคณะฯ ต้องปิดตัวลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว"
คู่แข่งที่เพิ่มขึ้นทำให้ Puka ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือนิสิตนั่นเอง
"หากมองว่าธุรกิจของเราให้อะไรกับสังคม ซึ่งก็คือคณะนิติศาสตร์ที่เราอยู่ เราคิดว่าเราได้เข้ามาแก้ปัญหา pain point ที่เกิดขึ้นกับนิสิตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะที่ต้องการชีทสรุปไว้อ่านก่อนสอบ นอกจากนี้ ในมุมส่วนตัว Puka เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ให้เราได้พิสูจน์สมมุติฐานและการคาดการณ์ที่เราเคยตั้งเอาไว้ในการทำธุรกิจ ได้ทดลอง ได้ล้มเหลว และเรียนรู้ ได้เห็นมุมมองของการทำธุรกิจในภาพใหญ่ขึ้น" พสิน กล่าว
ทำความรู้จักกับ Puka ผู้จัดจำหน่ายชีทสรุปกฎหมายคุณภาพให้มากขึ้นได้ที่ www.facebook.com/LawPukaEbooks และ LINE Shop: Puka
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit