นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันฯ นางสาววรชนาธิป จันทนู นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และคณะผู้บริหารสถาบันฯ พูดคุยหารือร่วมกับ รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย นายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา และดร.ณฐาภพ สมคิด รองผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ให้ความสนใจแนวทางการทำงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รศ.ดร.สุมนต์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยบูรพา ล่าสุดได้กำหนดนโยบายชัดเจนในเรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) รวมทั้งการสร้างแต้มต่อในเชิงทักษะให้กับนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางที่ สคช. ดำเนินการอยู่ พร้อมขอข้อเสนอแนะแนวทางการทำงานที่มหาวิทยาลัยจะสามารถสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาให้เตรียมความพร้อมก่อนลงสู่ตลาดแรงงานจริง
นายนคร ย้ำว่า สคช. พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นแนวทางที่ดำเนินการมาโดยตลอด และในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ยืนยันได้อีกครั้งว่ารัฐบาลมีเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ สู่การปฏิบัติแบบบูรณาการ เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนตลอดช่วงชีวิตการทำงานทั้งในและนอกระบบ และเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีที่มหาวิทยาลัยบูรพามีเป้าหมายการทำงานแนวทางเดียวกัน
นายสุรพล ระบุว่าแนวทางสำคัญที่จะทำให้สถานศึกษาสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง คือการเล็งเห็นความสำคัญให้การยอมรับเรื่องของตัวงาน ซึ่งก็คือมาตรฐานสมรรถนะ มาตรฐานอาชีพ ที่เวลานี้มี สคช. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการอยู่ หากนำมาตรฐานเหล่านี้ไปปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน นิสิตเหล่านั้นก็จะพร้อมลงสนาม และสามารถทำงานได้จริงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีคุณวุฒิวิชาชีพ ที่เทียบเท่ากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอาเซียน และเทียบเท่าคุณวุฒิการศึกษา หากเกิดการยอมรับและทุกฝ่ายผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากคุณวุฒิวิชาชีพให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็จะทำให้กำลังคนในอาชีพที่ไม่ได้อยู่ระบบการศึกษาแต่ได้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ มีโอกาสที่กลับคืนสู่สถาบันการศึกษาเพื่อรับคุณวุฒิการศึกษาได้เมื่อมีความพร้อม เพียงแต่สถาบันการศึกษาจะต้องให้การยอมรับ และพร้อมที่จะเติมเต็มในสิ่งที่ขาด ก็จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นระบบ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit