'คุยเรื่องไตไขความจริง' ชวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคุยเรื่อง 'ภาษีความเค็ม'

09 Feb 2022

โครงการ "คุยเรื่องไต ไขความจริง" โดย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ชวน น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี อายุรแพทย์โรคไต ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง มาให้ความรู้เรื่อง 'ภาษีความเค็ม' ภาษีเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังสงสัย และให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

'คุยเรื่องไตไขความจริง' ชวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคุยเรื่อง 'ภาษีความเค็ม'

ทำไมต้องเก็บภาษีความเค็ม ที่มาจาก 'โซเดียม หรือ เกลือ' ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการประกอบอาหาร
น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ อธิบายว่า ในปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งโซเดียมหรือความเค็มเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ เช่น โรคไต โรคความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต มะเร็งกระเพาะ และ โรคกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนั้น ภาครัฐจึงเริ่มมีการวางแผนเก็บภาษีความเค็มเพื่อเป็นหนึ่งเครื่องมือที่มุ่งหวังให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม

ภาษีความเค็มนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศเองก็มีการเก็บภาษีความเค็มมานานแล้วและก็ได้ผลดี เช่น ประเทศฮังการี ที่มีประชากรกว่า 9.75 ล้านคน หรือแม้แต่ ประเทศโปรตุเกส ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน ประเทศเหล่านี้ก็มีการเก็บภาษีความเค็ม เพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชากรในประเทศ

ภาษีความเค็มจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนหรือไม่
อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลังจากทราบข่าวภาครัฐเตรียมเก็บภาษีความเค็ม คือภาระค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ประชาชนหรือไม่ ซึ่งการเก็บภาษีความเค็มนั้นไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนแต่อย่างใด แต่จะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ โดยจะคิดตามสัดส่วนปริมาณโซเดียมที่เกินกว่ากำหนด ซึ่งจะขึ้นเพียงหลักสตางค์เท่านั้น โดยภาครัฐวางแผนจะเริ่มเก็บภาษีความเค็มกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูงและไม่ใช่อาหารหลักที่จำเป็น โดยจะประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริโภคและให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี

แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารลดโซเดียม
การปรุงอาหารรับประทานเองจะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมได้มากกว่าการรับประทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากเราสามารถเลือกวัตถุดิบและกรรมวิธีในการปรุงอาหารได้เอง อาหารทุกชนิดมีโซเดียมประกอบมากน้อยต่างกัน เช่น อาหารง่ายๆ อย่าง ไข่ต้ม จะมีค่าโซเดียมจากสารอาหารธรรมชาติที่แม่ไก่กินอยู่ที่ 30 มิลลิกรัม หากเปลี่ยนมาเป็นไข่เจียว จะมีโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 900-1000 มิลลิกรัม หรือกะเพราหมูสับ มีปริมาณโซเดียม 1200-1500 มิลลิกรัม ต่อจาน เนื่องจากมีการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ที่มีโซเดียม ดังนั้น วิธีการลดปริมาณโซเดียมที่ง่ายที่สุด คือ การปรุงอาหารรับประทานเองเพื่อควบคุมปริมาณเครื่องปรุงและกรรมวิธีประกอบอาหาร

ติดตามชมคลิปเต็ม ตอน ภาษีความเค็ม ได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=4706610906041358

โครงการ "คุยเรื่องไต ไขความจริง" อัพเดทข่าวสาร สาระและความรู้เกี่ยวกับโรคไต โดยทีมแพทย์ เภสัชกร และนักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่ผลัดเปลี่ยนกันมามอบสาระความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคไต

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่านทางทางเพจ Facebook สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย - The Nephrology Society of Thailand #คุยเรื่องไตไขความจริง #สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

'คุยเรื่องไตไขความจริง' ชวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคุยเรื่อง 'ภาษีความเค็ม'