สนพ. วางเป้าสถานีชาร์จ EV ต้องมี 567 แห่ง ภายในปี 2030 เน้นเข้าถึงง่าย ต้นทุนเหมาะสม

21 Feb 2022

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยผลการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะ วางเป้าหมายในปี 2030 ไทยควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย เน้นเข้าถึงง่าย ต้นทุนเหมาะสม

สนพ. วางเป้าสถานีชาร์จ EV ต้องมี 567 แห่ง ภายในปี 2030 เน้นเข้าถึงง่าย ต้นทุนเหมาะสม

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนาโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. หน่วยงานภาครัฐ 2. หน่วยงานภาคขนส่งและผู้ให้บริการอัดประจุ EV 3. หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ได้มีการออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ ZEV (Zero Emission Vehicle) และกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573

ทั้งนี้ หลักการและแนวคิดในการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะต้องเข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้สูง และต้องมีต้นทุนที่เหมาะสม เช่น ที่ดิน และค่าไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ความต้องการกำลังไฟฟ้า ตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสม การกระจายตัวของเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุม และพัฒนาระบบในการหาตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อตั้งสถานีอัดประจุรวมถึงจำนวนหัวจ่ายที่เหมาะสมในแต่ละสถานี

ผลการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและจำนวนเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge ที่เหมาะสม สำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะในปี 2030 พบว่าควรมีสถานีรวมจำนวน 567 แห่ง และมีเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้ารวม จำนวน 13,251 เครื่อง โดยแบ่งเป็นสถานีอัดประจุสาธารณะในเขตพื้นที่หัวเมืองใหญ่ จำนวน 505 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 8,227 เครื่อง และสถานีอัดประจุสาธารณะเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 62 แห่ง เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5,024 เครื่อง

ตำแหน่งที่ตั้งสถานีอัดประจุสาธารณะ (แห่ง)เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (เครื่อง)
เขตพื้นที่ในตัวเมือง (Cities)5058,227
  -  เขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ203,670
  -  ภาคเหนือ1581,085
  -  ภาคใต้104919
  -  ภาคกลาง761,364
  -  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1471,189
เขตพื้นที่ทางหลวง (Highway)625,024

ส่วนในเรื่องของต้นทุนนั้น เนื่องด้วยธุรกิจบริการสถานีอัดประจุนั้นเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการคืนทุน ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่ดิน ค่าปรับปรุงพื้นที่ ค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุ ในขณะที่ค่าดำเนินการส่วนใหญ่แล้วนั้นจะเป็นค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสถานีอัดประจุมีต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน จึงได้มีการเสนอแนวทางการสนับสนุนในช่วง 2 ปีแรก คือ การอุดหนุนค่าเครื่องอัดประจุ นอกจากนี้ อาจจะมีการขยายระยะเวลาของการปรับใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Low Priority รวมทั้งมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับสร้างสถานีอัดประจุ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมทั้งมีการกำหนดจำนวน/ขนาดพื้นที่จอดรถ เพื่อรองรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี สนพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนต่อไป

HTML::image(