"อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ" ถ้อยคำที่สะท้อนถึงพลังของผู้หญิง แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าบทบาทสตรีเป็นไปในทิศทางใด แต่มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า ผู้หญิงมีศักยภาพในการดำเนินงานและการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี อีกทั้งความอดทน และมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ผู้หญิงหลายคนประสบความสำเร็จในระดับโลก
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เปิดโอกาสให้สตรีทุกช่วงวัยในประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ พัฒนาศักยภาพสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีบทบาทในชุมชนที่แสดงพลังของสตรี พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 และได้ควบรวม เข้ากับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกองทุนหมุนเวียนเดียวกัน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 โดยการบริหารงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
ตั้งแต่ปี 2556 - 2564 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้มีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมในการประกอบอาชีพ จำนวน 63,115 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 15,922,162,385 บาท ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนหนี้ค้างชำระหรือการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและกลไกการบริหารจัดการหนี้
จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีการบูรณาการการทำงานสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2556 - 2559 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับการอนุมัติเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งสิ้น 297,752,400 บาท โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยแต่ละปีจะมีจำนวนหนี้เสียสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งเมื่อได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชาวบ้านด้วยตนเองพบว่า แท้จริงแล้วไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากผิดนัดชำระหนี้ แต่เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่แต่ละ ครัวเรือนได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ จึงเริ่มต้นหาวิธีในการช่วยเหลือ โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแกนหลักในการลงพื้นที่ 23 อำเภอ กระจายสู่ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน มีการจัดอบรมเรื่องการแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ โดยแบ่งเป็นหนี้เก่า (ตั้งแต่ปี 2556 - 2559) และหนี้ใหม่ (2560 - ปัจจุบัน) ซึ่งนอกจากจะสามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกและดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในการชำระหนี้ได้แล้ว ยังได้มีมาตรการเสริมเข้ามาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพให้ชาวบ้าน
ทำชุดอาหารว่างจำหน่ายแก่ประชาชนในท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีการจัดอบรม ทำให้ชาวบ้านมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการชำระหนี้ จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้จำนวนหนี้ของจังหวัดนครศรีธรรมราชลดลงได้ถึง 53.95% จากปี 2562 ที่มียอดหนี้เกินกำหนดชำระ 69.24% เหลือเพียง 15.29% (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. 2565) และยังได้มีการตั้งเป้าหมายในการดำเนินการลดหนี้ให้เหลือต่ำกว่า 5% ภายในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้
"อย่างไรก็ตามการจะลงไปแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ใจ เราต้องให้ใจชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขาสัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเขา และเขาจะให้ความร่วมมือกับเรา" คุณ กนกพร กล่าว
ทั้งนี้การขับเคลื่อนดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกระดับ พร้อมกับบูรณาการกับหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันส่งเสริมให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สตรีทุกพื้นที่เข้าถึงโอกาสของอาชีพ โอกาสของรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน และโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับ ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนไปจนถึงพัฒนาประเทศ นับเป็นอีกสิ่งที่ปรากฏชัดว่า "พลังสตรี" สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติ ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit