สุดต๊าช! กาแฟอะราบิกา 2 พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง ต้านโรคกลิ่นรสแปลกใหม่หอมสมุนไพรและคาราเมล

17 Feb 2022

กรมวิชาการเกษตร ลุยปรับปรุงพันธุ์กาแฟปั๊มอะราบิกา 2 พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรคขาประจำราสนิม ผ่านการทดสอบคุณภาพการชิมจากหน่วยงานที่ได้ใบรับรองมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งอเมริกา ปลื้มนักชิมยกนิ้วให้ทั้ง 2 พันธุ์กลิ่นรสแปลกใหม่เชียงราย 1 กลิ่นรสคาราเมล เชียงราย 2 กลิ่นรสสมุนไพร

สุดต๊าช! กาแฟอะราบิกา 2 พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง ต้านโรคกลิ่นรสแปลกใหม่หอมสมุนไพรและคาราเมล

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กาแฟอะราบิกาเป็นพืชที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีการนำเข้าพันธุ์กาแฟอะราบิกาหลายพันธุ์มาปลูกกันแพร่หลาย แต่เนื่องจากพันธุ์เหล่านั้นมีความอ่อนแอต่อโรคราสนิม ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตกาแฟอะราบิกาและพบระบาดในแหล่งปลูกที่สำคัญของโลก ดังนั้นคณะนักวิจัยซึ่งมี นางสุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผล สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เป็นหัวหน้าคณะวิจัย จึงได้ทำการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์กาแฟอะราบิกาเพื่อให้ได้พันธุ์กาแฟอะราบิกาที่ต้านทานต่อโรคราสนิมและให้ผลผลิตสูง โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพันธุ์ คือ มีความต้านทานต่อ โรคราสนิมสูงกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิมดี คะแนน สูงกว่า 65 -70 คะแนน ผลผลิตปานกลางถึงสูง และให้ปริมาณสารกาแฟเกรด A ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

การปรับปรุงพันธุ์กาแฟอะราบิกาเริ่มจากกรมวิชาการเกษตรได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟอะราบิกาลูกผสมที่ได้คัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยกรมวิชาการเกษตรเริ่มการพัฒนาพันธุ์จากลูกผสมรุ่นที่ 2 ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟมาดำเนินการทดสอบที่สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปี 2525-2532 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิกาลูกผสมรุ่นที่ 3 จำนวน 9 สายพันธุ์ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 100 ต้น ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 6 สายพันธุ์ ปี 2532-2543 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอะราบิกาลูกผสมรุ่นที่ 4 จำนวน 6 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 200 ต้น ณ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 3 สายพันธุ์ ปี 2543-2546 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอะราบิกาลูกผสมรุ่นที่ 5 จำนวน 3 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 50 ต้น คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 20 สายพันธุ์เพื่อใช้เมล็ดไปปลูกเปรียบเทียบในรุ่นที่ 6 จำนวน 20 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 50 ต้น คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 7 สายพันธุ์เพื่อใช้เมล็ดไปปลูกเปรียบเทียบสายพันธุ์รุ่นที่ 7 ในพื้นที่ 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จนถึงปี 2564 ได้สายพันธุ์ดีเด่นจำนวน 2 สายพันธุ์ เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 2 พันธุ์ใช้ชื่อว่า กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 1 และกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 2

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 1 มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคราสนิมสูง เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ 569.6 กรัมต่อต้น ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.8 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิม 78-79.5 คะแนน ชิม โดยได้นำตัวอย่างกาแฟอะราบิกาเชียงราย 1 ไปทดสอบคุณภาพที่ Acaemia do Cafe, Lisboa โปรตุเกส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ใบรับรองมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งอเมริกาพบว่า กาแฟอะราบิกาเชียงราย 1 ได้คะแนนการประเมินของพันธุ์ซึ่งปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย 79.5 คะแนน (จาก 100 คะแนน) โดยมีกลิ่นคาราเมลและหวาน กลิ่นรสชอคโกแล็ตนม (milk chocolate) รสชาติถั่วอ่อนๆ มี รสเปรี้ยวของนมเปรี้ยว ส่วนที่ปลูก ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ 78 คะแนน (จาก 100 คะแนน) พบว่า มีกลิ่นรสหอมคาราเมล (caramel) กลิ่นถั่วธัญพืช และรสชาติหวานอ่อน

กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 2 มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคราสนิมสูง เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ 623.65 กรัมต่อต้น ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.89 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิม 76 - 79 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีมาก ส่วนรสชาติและกลิ่นนั้นพบว่าแต่ละสถานที่มีรสชาติและกลิ่นต่างกัน โดยกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 2 ซึ่งปลูกที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ 79 คะแนน (จาก 100 คะแนน) มีกลิ่นรสสมุนไพรรสหวาน (sweet spice) กลิ่นเครื่องเทศ และรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อยแต่กลมกล่อม ส่วนที่ปลูก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ได้ 76 คะแนน (จาก 100 คะแนน) พบว่า มีกลิ่นผลไม้ (fruity) กลิ่นหอมคาราเมลเข้มข้น รสชาติหอมหวาน

สถาบันวิจัยพืชสวนมีแปลงผลิตเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์ที่เสียบยอด และขยายพันธุ์แนะนำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงรายและศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ คาดว่าจะผลิตต้นพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปลูกเป็นทางเลือกใหม่และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้ประมาณปลายปี 2565 นี้

HTML::image(