จุดประกายแนวคิดขับเคลื่อนชุมชนผ่านงานดีไซน์ร่วมสมัย ผลงานครีเอทีฟอาร์ต6ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต ม.ศิลปากร ในนิทรรศการ "What's The Hex"

28 Feb 2022

ได้รับเสียงชื่นชมจากคนรักศิลปะและผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างมาก สำหรับนิทรรศการ What's The Hexโดยคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอ 6มุมมองสร้างสรรค์จาก 6นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการออกแบบ จัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565(Bangkok Design Week 2022) จัดแสดงที่ชั้น 2ร้าน Chutie is Baking ภายในโครงการ Charoen 43 Art & Eateryถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ชีวิตใหม่ที่จะนำพาธุรกิจสร้างสรรค์ของไทยก้าวไปข้างหน้า สร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับเมืองและผู้คน

จุดประกายแนวคิดขับเคลื่อนชุมชนผ่านงานดีไซน์ร่วมสมัย ผลงานครีเอทีฟอาร์ต6ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต ม.ศิลปากร ในนิทรรศการ "What's The Hex"

ดร.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวชื่นชมผลงานว่าที่ดุษฎีบัณฑิตพร้อมเชื่อมั่นว่า ผลงานศิลปะทั้งหมดจะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าและบริการของแต่ละชุมชนได้จริง

"ผลงานของว่าที่ดุษฎีบัณฑิตรุ่นนี้เกินความคาดหมายและตอบโจทย์สาขาการออกแบบของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเสนอแนวคิดเชิงสร้างสรรค์สู่สังคมในแง่มุมที่น่าสนใจว่า ดีไซเนอร์สามารถถ่ายทอดจินตนาการเพื่อนำไปต่อยอดสู่การใช้งานจริงและเกิดประโยชน์ต่อสังคม ผลงานหลายชิ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์และศิลปวัฒนธรรม เหมือนเป็นการยกระดับงานออกแบบฝีมือคนไทยสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมความยั่งยืนในเวลาเดียวกัน"

โดยงานวิจัยทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการWhat's The Hex แบ่งออกเป็น 6มุมมองสร้างสรรค์ ดังนี้

ผลงาน:Enhancing Thai Art with Generative and Procedural Method

เจ้าของ:ธนัช จิววารศิริกุล

แรงบันดาลใจ:

"ลายกระหนกไทย" มีรากเหง้าและวิวัฒนาการที่ผ่านการพัฒนาให้ปราณีตอ่อนช้อยงดงามหลายยุคสมัย ความซับซ้อนในการสร้างสรรค์ลวดลายกระหนกที่มีความพลิ้วไหวดุจเปลวเพลิงในสายลม หรือความอ่อนช้อยของพรรณพฤกษาท่ามกลางธรรมชาติ ที่ครูช่างรุ่นก่อนได้สร้างไว้ปรากฏให้เห็นบนตู้พระธรรม โบสถ์วิหาร หรือข้าวของเครื่องใช้ของชนชั้นสูงในสมัยโบราณ สิ่งเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ

"ความยากอยู่ตรงที่การสร้างสรรค์ลวดลายกระหนกให้มีความพลิ้วไหวเหมือนครูช่างในอดีต เราจึงพัฒนาโปรแกรม Generative and Procedural method ซึ่งเป็นกรรมวิธีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยคอมพิวเตอร์ โดยการออกแบบกฏในการสร้างสรรค์ ซึ่งความโดดเด่นของโครงงานนี้คือเนื่องจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ต้องใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการแตกตัวของกิ่งไม้ หรือการเกิดของไหล (Fluid dynamic) มาช่วยในการสร้างลายกระหนก เราอาจจะได้ลายกระหนกที่มีรูปแบบความพลิ้วไหวรูปแบบใหม่และนำไปประยุกต์กับงานออกแบบในสาขาอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ลายกระหนกไปในตัวครับ"

ผลงาน:สารัตถะย่านวัฒนธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร

เจ้าของ:เอก ทองประเสริฐ

แรงบันดาลใจ:

ด้วยแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปยังชุมชนต่าง ๆ ที่มักจะเห็นสินค้าและบริการซ้ำกัน ทำให้คุณเอกเกิดคำถามในใจว่า จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถสร้างสินค้าและบริการ? รวมถึงการส่งต่อแนวคิดให้เจ้าของธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดไอเดียในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในเชิงเอกลักษณ์และนำไปสู่การตัดสินใจโดยไม่มีราคาเป็นตัวเปรียบเทียบ ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าที่มีความจำเพาะ และสามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนได้อย่างดี

"ผลงานทดลองทั้ง2รูปแบบ เกิดจากการศึกษาองค์ประกอบทางกายภาพและองค์ประกอบทางนามธรรมที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกที่ได้รับจากย่านเจริญกรุง ซึ่งมีความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ทำให้เกิด diversity ของชุมชนที่ผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ได้อย่างกลมกลืน เราจึงนำสัญลักษณ์ในเชิงบวกอย่าง หน้าเสือ มังกร ดอกโบตั๋น หยิบยกมาใช้ในบ้านเรือน เพื่อกระตุ้นการรับรู้และเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมที่ยังคงความหมายดั้งเดิมไว้ในรูปแบบที่ร่วมสมัย จะเห็นได้จากชุดงิ้วที่นำมาดีไซน์เป็นเสื้อผ้าแนว street wareรวมถึงการนำวัสดุที่พบเห็นจนชินตาใน 'เซียงกง'มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบภาชนะหรือแจกัน

"การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากทุนวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน นับเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น เหมือนเป็นการพัฒนาชุมชนผ่านสินค้าและบริการที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ จึงช่วยลดการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันคนนอกพื้นที่ก็มองเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับชุมชน เพราะเรามุ่งมั่นที่จะนำงานออกแบบมาแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอนาคต"

ผลงาน:Mom & Me

เจ้าของ:จิราพรรณ วงศ์ทองสงวน

แรงบันดาลใจ:

Mom & Me จัดเป็นนวัตกรรมการออกแบบหมุนเวียน "ขยะแฟชั่น" ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ผ่านข้าวของเครื่องใช้ การศึกษาเรื่องการสร้างความผูกพัน (Attachment)เพื่อนำหลักการมาใช้ในออกแบบสินค้าแฟชั่นให้มีอายุยืนยาว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบหมุนเวียน (circular design) หากแต่ความผูกพันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลกับสิ่งของ บังคับให้เกิดไม่ได้ เมื่อนำมาศึกษาต่อเกี่ยวกับธรรมชาติของความผูกพันพบสภาวะหนึ่งที่เรามาตั้งชื่อว่า "ไม่ใช้แต่ไม่ทิ้ง" คือเสื้อผ้าที่จะใช้ก็ไม่ได้จะทิ้งก็ทิ้งไม่ลง นั่นแสดงว่ามีความผูกพันอย่างรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องการจับจุดนี้มาทำงานต่อ 

"เรามีเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แต่ไม่ทิ้งมากมาย เช่นเดียวกับชุดของคุณแม่ที่ไม่ใช้แต่เรามีความรู้สึกร่วมและรุนแรงต่อใจมากที่สุด เราจึงลองหากระบวนการจัดการเพื่อจับความรู้สึกนั้นแปรเปลี่ยนเป็นความหมายสำคัญ เพื่อเข้าใจจิตใจตัวเอง เข้าใจความหมายที่วัตถุตัวแทน (เสื้อผ้าของแม่) มีต่อเรา และนำความหมายนั้นกลับมาสร้างความสุขความอิ่มเอมใจให้กับเรา มุมมองเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีความหมาย แม้เป็นเรื่องของปัจเจกแต่เราสามารถถอดบทเรียนจากกระบวนการทางศิลปะแบบ process art มาสู่กระบวนการออกแบบ เพื่อเสริมสร้างความผูกพันอันจะนำไปสู่เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีความหมาย การให้ความสำคัญกับคุณค่าทางใจจึงเป็นการสร้างคุณค่าให้การนำกลับมาใช้ใหม่หรือการหมุนเวียนในอีกรูปแบบหนึ่ง" 

ผลงาน:Khon In Dish

เจ้าของ:ญาฐณา ภควัตธนโกศล

แรงบันดาลใจ:

สุนทรียรสแห่งโขน:เป็นการออกแบบผัสสสัมพันธ์เพื่อขยายผลมิติทางปัญญา เป็นหนึ่งในการทดลองขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการสัมผัสโขรนรูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างโขนกับผู้ชม ผ่านการสามารถสร้างประสบการณ์และความรู้สึกเฉพาะตัวกับผู้ชมในอีกมิติหนึ่ง และสามารถเปลี่ยนผู้เข้าชมมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตัวเอง

Khon In Dishเป็นการทดลอง "รสศฤงคารรส" (รสแห่งความรัก) หยิบยกการพรรณาถึงความรักระหว่างหนุ่มสาวในมุมมองของสามี-ภรรยา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแสดงโขนตอน "จับนาง เกี้ยวนาง" ผ่านการใช้สี กลิ่น รส รูปทรง รูปร่าง กรรมวิธีในการประกอบการอาหาร และการตกแต่งจาน มาใช้เปรียบและสื่อความหมายถึงเหตุการณ์ตลอดจนตัวละครที่ปรากฎอยู่ในการแสดงโขน

"สุนทรียรสแห่งโขนเป็นการถ่ายทอดโขนในมุมมองที่แตกต่างผ่านรสสัมผัสในสำรับไทย เช่น เมี่ยงดอกไม้กระทงทอง (นางบุษมาลี) กุ้งโสร่งและม้าฮ้อ (นางสุพรรณมัจฉา) ข้าวตังหน้าตั้ง (นางเบญจกาย) บุหลันดั้นเมฆ (นางวารินทร์) และมะกรูดลอยแก้ว (นางสุวรรณกัลยา) ทั้งยังสามารถนำโขนมาใช้ในการพัฒนาปัญญาให้กับตนเองและส่งต่อให้คนอื่น นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างปัญญาอย่างมีสุนทรียะที่ทุกเพศทุกวัยสามารถจับต้องได้ แล้วยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยสืบทอดการแสดงโขน โดยที่ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของโขนในรูปแบบเดิมแต่อย่างใด"

ผลงาน:ISAN Storyเล่าอีสานผ่านดินเผา

เจ้าของ:ราชา ธงภักดิ์

แรงบันดาลใจ:

ISAN Storyได้นำแนวคิด "ท้องถิ่นนิยม" Localization และแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน ท่ามกลางสภาวะการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ผลงานการสร้างสรรค์ที่ได้แรงบันดาลใจจากลายผ้าอีสาน รูปแบบ ลวดลายของสัตว์มงคลบนผืนผ้าที่มีคติความเชื่อแฝงอยู่ เป็นลวดลายที่แสดงถึงพลัง อำนาจ และบารมี ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายในเชิงบวกแสดงออกผ่านเครื่องปั้นดินเผา

โดยการนำเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักเสียหายจากกระบวนการผลิตในชุมชนด่านเกวียน นครราชสีมา กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง เพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน และนำไปเผาที่อุณหภูมิต่ำเพื่อลดใช้พลังงานในการเผาไหม้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแนวทางสร้างสรรค์งานเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างองค์ความรู้ร่วมกับชุมชนผสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการนำพาชุมชนไปสู่ยั่งยืน

"ผมเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยโทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับชุมชนต่าง ๆ รวมถึงชุมชนด่านเกวียนอยู่บ่อยครั้ง เราจึงได้เห็นเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักเสียหายในกระบวนการผลิตถูกทิ้งไว้ ไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ จึงนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยการทดลองพัฒนาเนื้อดินขึ้นมาผสมกับ'Grog'(อ่านว่า 'กร็อก'เครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักแล้วนำมาบดให้ละเอียด) ซึ่งสามารถขึ้นรูปและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีกครั้ง  และนำสีที่ได้จากแร่ต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการทำสีให้สีติดทนนานขึ้น

"เมื่อได้กระบวนการผลิตแล้วเราก็นำไปจัดเวิร์คช็อปกับชุมชน นักเรียน นักศึกษา ศิลปิน ผู้ประกอบการด่านเกวียน และได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อกระจายแนวคิดและองค์ความรู้ ภายใต้คอนเส็ปต์ "เล่าอีสานผ่านดินเผา"ด้วยแรงบันดาลใจที่ได้จากการนำข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวอีสานคุ้นเคย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของชาวอีสานมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ส่วนผมเลือกลวดลายผ้าทอของชาวอีสาน สัตว์มงคล และลายเรขาคณิตมาใช้ในการออกแบบ เช่น ม้า ช้าง กวาง ไก่ นอกจากนี้ ผมยังนำกร็อกมาผสมผสานกับพลาสติกเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการทางสถาปัตยกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ วัสดุปูพื้น และวัสดุตกแต่งผนัง ทำให้มีความทนทานและน้ำหนักเบาในเวลาเดียวกัน การทดลองในครั้งนี้จึงเป็นการ Upcyclingตามวิถีแห่งความยั่งยืน"

ผลงาน:การออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์ดิจิทัลแก่กลุ่มเยาวชนในศาสนาพุทธ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเนื้อหา ปรัชญาปฏิจจสมุปบาท

เจ้าของ:ภณสุทธิ์ สุทธิประการ

แรงบันดาลใจ:

ในยุคที่ศรัทธาและความเชื่อไม่ได้สร้างความมั่นใจ ทั้งยังสร้างคำถาม ข้อขัดแย้ง และข้อโต้แย้งมากมายให้กับคนรุ่นใหม่ การศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธบนวิถีเก่ากลายเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งในการเข้าถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีในคำสอนของศาสนาพุทธ การทดลองนี้นำเสนอผลงานในลักษณะของศิลปะการจัดวาง 'Art installation'โดยตัวงานจะสามารถให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์ (InteractionActivities) เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถสร้างรูปแบบจำลองของตนเองได้อย่างสอดคล้องกับหลักปรัชญา 'ปฏิจจสมุปบาท'

ศิลปินเลือกใช้ดินเบาเปรียบเปรย'ตัณหา' ในลักษณะของความอ่อนนุ่มยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้ชมสามารถหยิบจับสัมผัสผลงานและเข้าถึงตัณหาได้อย่างง่ายดาย นำเสนอผ่านสัตว์สัญลักษณ์ 3 ชนิด ได้แก่ หมู (จรุก) สัญลักษณ์แทนความโลภ จรุกเป็นสัตว์ที่ใช้ปากกินอาหารยังไม่พอใจ ต้องใช้จมูกดูดอาหารเข้าไปพร้อมกัน งู (อุรค) สัญลักษณ์แทนความโกรธ อุรคเป็นสัตว์ที่ใช้อกหรืออุระเคลื่อนที่ ใช้สัญชาติญาณนำทางต้องหวาดระวังด้วยความโกรธเกรี้ยว และ ไก่ (อัณฑชะ) สัญลักษณ์แทนความหลง อัณฑชะเป็นสัตว์ที่เกิดในเปลือกไข่ แม้ออกมานอกเปลือกก็ยังคงหน้าทิ่มหัวตำคุ้ยเขี่ยเวียนวนไป ขณะที่พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของ'สติปัญญา'ที่ต้องประคับประคองไว้ ศิลปินเลือกใช้ปูนหินที่มีน้ำหนัก แข็งแรง และสามารถตกแตกได้เหมือน 'สติแตก' นั่นเอง

"เด็กยุคใหม่กำลังปฏิเสธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า "ต่อต้าน" นะครับ แต่เพราะพวกเขาได้รับข้อมูลที่ไม่เข้ากับยุคสมัย เช่น ศรัทธา ลุ่มหลง ที่มักจะงมงายมากกว่านำเสนอหลักปรัชญาหรือคำสอนของศาสนาพุทธ ทั้งที่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้มีข้อห้ามหรือรู้สึกผิดบาปกับกิเลสตัณหาต่าง ๆ ขนาดนั้น มันกลายเป็นวิถีประชาที่บิดเบือนไป ผมจึงนำสัตว์สัญลักษณ์ทั้ง 3ตัวที่อยู่ใจกลางวงล้อปฏิจจสมุปบาทหรือที่ตะวันตกเรียกว่า 'Wheel of Life' ประกอบด้วย หมู งู และไก่ หมายถึง ตัณหาเป็นเสมือนตัวขับเคลื่อนมนุษย์

"ผมอยากให้คนเข้าถึงหลักคำสอนแท้จริงของพระพุทธศาสนาที่ไม่ใช่เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ ความงมงาย การก้มกราบไหว้บูชาอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์มาก อย่างการค้นหาเหตุแห่งทุกข์และหาทางดับเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง บางคนอาจจะนำคำสอนของพุทธศาสนามาใช้แบบสุดโต่งหรือสูงส่งจนจับต้องยาก ทำให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามกับการกระทำเหล่านั้นและออกห่างจากศาสนาไปเรื่อย ๆ การนำเสนอผลงานชุดนี้จึงเป็นการช่วยให้คนยุคใหม่เปิดใจเข้าถึงหลักคำสอนได้ง่ายขึ้น และนำไปต่อยอดกับการดำเนินชีวิตได้จริง"

นิทรรศการ What's The Hexแสดงที่ชั้น 2ร้าน Chutie is Baking ภายในโครงการ Charoen 43 Art & Eateryเมื่อวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ที่ http://decorate.su.ac.th/

HTML::image(