บพข. เฮ เปิดตัวต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยคนไทยผลงาน มทร. อีสานร่วมกับ ช.ทวี เตรียมต่อยอดผลิตสำหรับขบวนรถไฟฟ้ากลางเมืองขอนแก่น

23 Feb 2022

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. เผยผลสำเร็จจากการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยและชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตภายในประเทศไทยเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ได้ต้นแบบขบวนรถไฟฟ้ารางเบาพร้อมเปิดตัวขบวนรถวิ่งทดสอบกลางปีนี้ เตรียมรองรับเส้นทางเมืองขอนแก่น 26 กิโลเมตรในอีก 3 ปี

บพข. เฮ เปิดตัวต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยคนไทยผลงาน มทร. อีสานร่วมกับ ช.ทวี เตรียมต่อยอดผลิตสำหรับขบวนรถไฟฟ้ากลางเมืองขอนแก่น

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่าโครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาดังกล่าว เป็นโครงการที่ บพข. จัดสรรทุนวิจัยให้กับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย ถือเป็นการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผลิตได้ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ และอะไหล่จากต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถวิจัย พัฒนา และออกแบบการผลิตขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ และเพื่อรองรับความต้องการด้านการขนส่งทางรางในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว การสนับสนุนทุนวิจัยนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมระบบคมนาคมของไทย ซึ่งผลสำเร็จในการสนับสนุนทุนในปีแรกทำให้ได้ต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาดังกล่าวได้ถูกจัดแสดงบริเวณสถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่นในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 6 มีนาคมนี้

ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดสามารถผลิตได้ภายในประเทศได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยต่อยอดมาจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ได้ชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ โบกี้ (Bogie) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ ตัวถัง (Car Body) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ มอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อน (Traction Inverter) ระบบปรับอากาศ (Cooling System) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา แพนโตกราฟ (Pantograph) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ระบบจ่ายไฟฟ้าเสริม (Auxiliary Power Unit) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา

อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง (Fastener) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา และหมอนคอนกรีตอัดแรง (Sleeper) ผสมยางพารา สำหรับรถไฟฟ้ารางเบาโดยร่วมกับภาคเอกชนที่ร่วมทำวิจัยได้แก่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล อินโนโลยี จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เทพประทานพร วัสดุภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพในการขยายสายการผลิตที่มีอยู่เดิมไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรถไฟฟ้ารางเบา งานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัย การออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนทางด้านระบบราง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัดในหลายเส้นทาง เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

ดร.ไพวรรณ กล่าวต่อว่าหลังจากประกอบต้นแบบแล้วเสร็จแล้ว จะมีการทดสอบการทำงานตามฟังก์ชั่น ทดสอบคุณลักษณะทางกล คุณลักษณะทางไฟฟ้าที่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานในประเทศ เช่นที่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง เพื่อนำข้อมูลการทดสอบไปปรับปรุงคุณภาพ หลังจากนั้น จะเป็นการนำชิ้นส่วนต้นแบบมาประกอบรวมกันเป็นขบวนรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบและทำการทดสอบวิ่งในเส้นทางทดสอบในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และเส้นทางวิ่งบริเวณรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางวิ่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานี (TOD) ตลอดทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ในเส้นทาง สำราญ - ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี

ดร.สิรี กล่าวทิ้งท้ายถึงการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการวางตำแหน่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN EV HUB) บพข.เล็งเห็นความต้องการและศักยภาพของประเทศในการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต (Future Mobility) ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับผู้ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

HTML::image(