ม.มหาสารคาม ส่ง "กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย" คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ จาก วช.

04 Mar 2022

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกสร วงศ์เกษม แห่ง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากผลงาน "กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย" ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 - 2565 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานมอบรางวัล

ม.มหาสารคาม ส่ง "กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย" คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ จาก วช.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกสร วงศ์เกษม เจ้าของผลงาน กล่าวว่า การทอผ้า ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผ้าที่ทอด้วยลวดลายที่แสดงถึงภูมิปัญญาและทักษะของผู้ทอได้แก่ "ผ้ายก" ซึ่งเป็นผ้าที่ทอได้ยากและมีเอกลักษณ์ ทำให้ผ้ายกนี้เปรียบเสมือนงานศิลปะ หรืองานหัตถกรรม ราคาของผ้าทอยกเหล่านี้จะมีราคาสูง เมื่อเทียบกับการทอด้วยวิธีอื่น โดยปกติแล้วผ้ายกที่เป็นผ้าฝ้ายจะมีราคาขั้นต่ำผืนละ 6,000 บาท แต่หากมีลวดลายซับซ้อนหรือทำจากเส้นไหมหรือดิ้นเงินดิ้นทองแล้วราคาจะสูงกว่า 15,000 บาทต่อผืน แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยอัตราการผลิตที่ต่ำ ทำให้ผู้ทอไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากมีปัญหาทั้งด้านแรงงาน ทักษะ ตลอดจนแรงจูงใจในการทอ งานทอผ้ายกนี้นับวันยิ่งมีคนสืบทอดน้อยลง เพราะกว่าจะได้เงินค่าตอบแทนในการทอแต่ละผืนต้องใช้เวลานานและยังเป็นงานที่ยากด้วย ผู้ทอจึงเลือกที่จะทอผ้าแบบเรียบแทน จากปัญหาที่กล่าวมาจึงเกิดแนวคิดในการออกแบบและสร้างกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติสำหรับทอผ้ายกขึ้น กี่ทอผ้านี้มีการควบคุมด้วย PLC และมีหน่วยความจำที่สามารถช่วยจดจำและบรรจุลายผ้าได้ เพิ่มอัตราการทอ ลดแรงงานในการทอผ้า ทำให้การทอผ้ายกเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีทักษะทอได้ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความภูมิใจในการอนุรักษ์ศิลปะการทอที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น อันเป็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

สำหรับกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเพื่ออนุรักษ์ผ้ายกไทย ได้นำเอาเทคโนโลยีกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการทอผ้ายก อันเป็นศิลปะการทอขั้นสูงของไทย และอนุรักษ์ให้คงอยู่ โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมกลไกการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า และผู้ใช้สามารถเพิ่มลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ได้เองตามที่ต้องการ การใช้งานยังคงวิถีการทอแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังช่วยลดแรงงานจากแต่เดิมต้องทอ 2 - 3 คน ให้เหลือเพียงคนเดียว ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการทอได้ 2.5 เท่า เมื่อเทียบการทอในลายเดียวกัน ไม่มีลายผ้าผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้น ยังเหมาะกับทุกวัย โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทักษะก็สามารถทอได้ คนสูงอายุที่ไม่มีกำลังขา แม้แต่คนพิการทางขาก็สามารถใช้เครื่องทอนี้ได้เช่นกัน โดยในส่วนของลวดลายหากมีการบันทึกลายทอมากกว่า 500 ลวดลาย ปัจจุบัน กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติได้นำไปใช้งานในพื้นที่ชุมชนทอผ้าบ้านนาโปร่ง จังหวัดอุดรธานี และชุมชนทอผ้าบ้านนาสะแบง จังหวัดยโสธร ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนทั้งสองแห่งได้ให้การตอบรับผลสำเร็จของกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติเป็นอย่างดี มียอดการผลิตผ้ายกเพิ่มขึ้นถึง 500 หน่วยต่อปี คิดเป็นผลกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อปีประมาณ 2,800,000 บาท โดยมีการจ้างแรงงานในระดับแรงงานเพิ่มขึ้น 2 คน นอกจากนั้น ยังสามารถประเมินความสำเร็จด้านธุรกิจได้ในระดับมากที่สุดอีกด้วย

HTML::image(