ไอแคนน์ (ICANN) มุ่งสร้างการเชื่อมต่อที่รวดเร็วและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในเคนยา ด้วยการติดตั้งกลุ่มแม่ข่ายหลัก (root server cluster)
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแอฟริกาจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงที่รวดเร็วมากขึ้นและการปกป้องที่ดียิ่งขึ้นจากภัยการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยการติดตั้งกลุ่มแม่ข่ายหลักสองกลุ่ม ในการนี้ องค์กรควบคุมการจดทะเบียนชื่อและหมายเลขอินเทอร์เน็ต (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) หรือไอแคนน์ (ICANN) องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบชื่อโดเมนและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดระบบอินเทอร์เน็ตระดับโลกที่สามารถทำงานร่วมกันและมีความมั่นคงปลอดภัย ได้ประกาศว่าองค์กรจะติดตั้งและบริหารจัดการกลุ่มแม่ข่ายหลักที่บริหารจัดการโดยไอแคนน์ (ICANN Managed Root Server หรือ IMRS) ใหม่ในสองแห่งในแอฟริกา โดยมีการยืนยันแล้วว่าหนึ่งในนั้นคือเคนยา การดำเนินการนี้เป็นการลงทุนด้านนี้ในแอฟริกาเป็นครั้งแรกของไอแคนน์
ปัจจุบัน ประชากรในแอฟริกาที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วน 33% โดยสหภาพระบบโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) ชี้ว่าจำนวนบุคคลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแอฟริกาเพิ่มขึ้น 23% ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ในเมืองที่มีการศึกษาและมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งการใช้งานและบริการออนไลน์เป็นสิ่งที่คุ้นเคย
การติดตั้งกลุ่มแม่ข่ายหลัก IMRS จะเพิ่มสมรรถภาพที่สำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วแอฟริกา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและนำโอกาสมาสู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่จำนวนมาก กลุ่มแม่ข่ายดังกล่าวนี้ช่วยทำให้ความต้องการอินเทอร์เน็ตในแอฟริกาได้รับการตอบสนองภายในภูมิภาคและไม่ต้องขึ้นอยู่กับเครือข่ายและเซอร์เวอร์ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก จึงจะช่วยลดความหน่วงและยกระดับประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตในทั่วทั้งภูมิภาค
"การขยายโครงสร้างพื้นฐานของเราในแอฟริกาสอดรับกับพันธกิจของไอแคนน์ ในการทำให้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีความมั่นคงปลอดภัย มีเสถียรภาพ และมีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัว" โกรัน มาร์บี (Goeran Marby) ประธานและซีอีโอของไอแคนน์ กล่าว "การเพิ่มกลุ่มแม่ข่ายหลักในแอฟริกาเป็นก้าวสำคัญในการกระตุ้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเสริมสร้างเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ตในทั้งทวีปแห่งนี้ แน่นอนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เราขอขอบคุณกระทรวงไอซีที นวัตกรรม และเยาวชนในเคนยาสำหรับการสนับสนุนในการติดตั้งกลุ่มแม่ข่ายหลักในประเทศแห่งนี้ และสำหรับความตั้งใจของพวกเขาในการยกระดับระบบอินเทอร์เน็ตในทั้งทวีป"
ด้วยการทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีความหมายในแอฟริกา ไอแคนน์ ซึ่งเป็นสมาชิกของฝ่ายการพัฒนาโทรคมนาคมแห่งสหภาพระบบโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union Telecommunication Development Sector หรือ ITU-D) ยังมีบทบาทในการบรรลุเป้าหมายของโครงการแนวร่วมดิจิทัลพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็คท์ (Partner2Connect Digital Coalition) เพื่อนำการเชื่อมต่อและการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลสู่ชุมชนที่ "เข้าถึงได้ยาก"
"แนวร่วมพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็คท์คือโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ในการทำให้ภาคไอซีทีดำเนินแนวทางแบบองค์รวม เร่งให้เกิดความสัมพันธ์เพื่อความร่วมมือใหม่ ๆ และจัดสรรทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเชื่อมต่อผู้คนที่ยังไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต" ดอรีน บ็อกแดน-มาร์ติน (Doreen Bogdan-Martin) ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพระบบโทรคมนาคมระหว่างประเทศ กล่าว "ดิฉันยินดีต้อนรับความตั้งใจของไอแคนน์ในการบรรลุเป้าหมายของพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็คท์ ที่มุ่งนำโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่สำคัญมาสู่แอฟริกา และขับเคลื่อนการเข้าถึงการเชื่อมต่อแบบถ้วนหน้าและการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล"
โจเซฟ มูเชรู (Joseph Mucheru) รัฐบุรุษอาวุโสเจ้าของเครื่องอิสริยาภรณ์หัวใจทองคำแห่งเคนยา (E.G.H) รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที นวัตกรรม และเยาวชนของเคนยา กล่าวต้อนรับการลงทุนครั้งนี้ว่า "โครงการนี้เป็นการพัฒนาเชิงบวกที่สอดคล้องกับทั้งยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของแอฟริกา (2563-2573) และยิ่งไปกว่านั้นคือสอดคล้องกับแผนการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของเคนยาซึ่งกำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในห้าเสาหลักที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของระบบเศรษฐกิจ เราจึงขอขอบคุณไอแคนน์สำหรับความมั่นใจในการเลือกเคนยาอีกครั้งให้เป็นหนึ่งในที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับเคนยาเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อแอฟริกาและทั้งโลกด้วย การดำเนินโครงการนี้จะมีความสำคัญอย่างเหลือล้นในการเร่งดำเนินการตามแผนการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลในเคนยา"
กลุ่มแม่ข่ายหลักจะช่วยลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการโหลดเว็บไซต์ โดยเฉพาะเมื่อมีการพุ่งสูงของปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันทั่วทวีปแอฟริกาในทันที และที่สำคัญที่สุด กลุ่มแม่ข่ายหลัก IMRS ใหม่นี้จะช่วยลดผลกระทบของภัยการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นในแอฟริกา การโจมตีทางไซเบอร์แบบปฏิเสธการให้บริการ (Distributed Denial-of-Service หรือ DDoS) ทำงานด้วยการส่งคำขอไปยังเซิร์ฟเวอร์ในปริมาณที่มากเกินรับได้ ด้วยการแยกตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มแม่ข่ายหลัก IMRS เป็นสองแห่ง ประกอบกับด้วยสมรรถนะที่สูงขึ้นของอัตราการส่งถ่ายและการประมวลผลข้อมูล ความเสี่ยงที่อินเทอร์เน็ตจะล่มจากภัยการโจมตีทางไซเบอร์จะลดลงอย่างมาก กล่าวคือสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยลดผลกระทบของการโจมตีได้
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ใหญ่กว่าของไอแคนน์ ในการขยายบทบาทระดับโลกของเครื่องแม่ข่ายหลักด้วยการเพิ่มสองกลุ่มแม่ข่ายหลักที่ดำเนินการและบริหารจัดการโดยไอแคนน์ในแอฟริกา นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วในอเมริกาเหนือ เอเชีย และยุโรป
ทรัพยากรสื่อ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไอแคนน์ในแอฟริกา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับแม่ข่ายหลักที่บริหารจัดการโดยไอแคนน์ (IMRS)
เกี่ยวกับไอแคนน์
ไอแคนน์มีพันธกิจในการช่วยให้เกิดระบบอินเทอร์เน็ตของโลกที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย และมีเอกภาพ ทั้งนี้ในการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในระบบอินเทอร์เน็ต คุณต้องพิมพ์ชื่อหรือหมายเลขที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ของคุณ โดยที่อยู่นั้นจะต้องไม่ซ้ำกับที่อยู่อื่นใดเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทราบว่าจะหากันเจอได้ที่ใด ไอแคนน์มีหน้าที่ช่วยบริหารจัดการและให้การสนับสนุนชื่อหรือหมายเลขระบุตัวตนที่ไม่ซ้ำกันเหล่านี้ในทั่วโลก ไอแคนน์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 เป็นองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรและเป็นชุมชนที่มีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit