จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever : ASF) จนทำให้หมูล้มตายจำนวนมากและทำให้ผลิตลูกหมูได้น้อยลง ที่ตามมาคือราคาต่อกิโลของเนื้อหมูมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ทั้งเกษตรกรรายย่อย แผงขายหมู ร้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภค ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ขยายโครงการพาณิชย์ลดราคา (หมูเนื้อแดง) และตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดงออกไปอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูแล้วนั้น
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสื่อสาธารณะ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูไปยังต่างประเทศ และการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู รวมไปถึงการปกปิดข้อมูลการระบาดจนทำให้การจัดการปัญหาล่าช้าและไม่ทันการณ์ กระทั่งหมูทั้งระบบมีน้อยลง ขณะที่ สอบ.มองว่าทางออกของผู้บริโภคในวิกฤตราคาหมูครั้งนี้มีความซับซ้อนอยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าข้อเสนอระยะสั้นที่หลายฝ่ายเห็น ว่าอาจมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวจากต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งยังมีราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งดังกล่าวนั้นจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น
สารี กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอระยะยาวนั้น รัฐควรต้องหาแนวทางในการทำให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย ไม่ให้เกิดการผูกขาดด้านราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้นดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่ผู้บริโภคอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบที่จะทำให้เกิดกระบวนการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นต้นตอของโรคระบาดในหมู หรือต้นตอของความไม่ปลอดภัย จนเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาในมนุษย์ในท้ายที่สุด นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทในการทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ ที่รู้จักกันในนาม 'หมูหลุม'
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาโครงสร้างราคาที่ยังไม่มีความชัดเจน ระหว่างราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเป็นอีกราคาหนึ่ง แต่เมื่อซื้อมาประกอบอาหารทำไมจึงต้องมีการกำหนดราคาเป็นสองเท่าของหมูมีชีวิต รวมทั้งปัญหาวัตถุดิบในการเลี้ยงหมูซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกรก็นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศ จึงเกิดคำถามว่าความเป็นธรรมของราคาต่อผู้บริโภคและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะมีการจัดการอย่างให้เป็นระบบอย่างไร ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การกำหนดให้มีแนวทางลดการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่เพิ่ม คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น จึงมองว่าควรมีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยในสถาบันการศึกษาเรื่องผลกระทบของปศุสัตว์ขนาดใหญ่ต่อภาวะโลกร้อน และมีทางเลือกใหม่ในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่นำมาทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพง
ทั้งนี้ สอบ. ได้มีข้อเสนอ 'แนวทางลดผลกระทบจากเนื้อหมูราคาแพงต่อผู้บริโภค' ดังต่อไปนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit