21 ไอเดีย 21 พื้นที่แห่งความสุข ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย

11 Jan 2022

ใครมีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ คงจะได้เห็นอาคารหลังหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่พักคอยและจัดกิจกรรมต่าง ๆ แต่ทว่าหลายคนพร้อมใจเรียกพื้นที่นี้ว่า พื้นที่แห่งความสุข

พื้นที่แห่งความสุขนี้เป็นผลลัพธ์จาก โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีได้จัดทำขึ้นเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในการมารับบริการในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้เป็นมากกว่าพื้นที่รักษาทางกาย แต่เป็นพื้นที่ที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว ริเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2562 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคีเครือข่ายสถาปนิก และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ตั้งใจที่จะสร้าง ความสุข ให้ทุกชีวิตที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลมีความสะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย เป็น พื้นที่แห่งความสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

พื้นที่แห่งความสุขภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่มีอยู่ 21 แห่งทั่วประเทศ นับว่ามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป การออกแบบจะเอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีของคนทุกกลุ่ม ผ่านกระบวนการออกแบบแบบมีส่วนร่วม (Participatory Design) เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนในแต่ละบริบท ครอบคลุมความต้องการของทั้งโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ สถาปนิก นักออกแบบ ตลอดจนประชาชนที่ใช้งานพื้นที่จริง โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ในการก่อสร้างได้นำเทคโนโลยี Building Information Modeling หรือ BIM มาใช้ เพื่อลด Waste ลดเวลา และลดค่าใช้จ่าย

"ข่วงฮ่วมใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย
ผู้ออกแบบ : ใจบ้านสตูดิโอ
ด้วยความคิดที่ว่าการออกแบบที่ดีต้องเชื่อมโยงผู้คน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ข่วงฮ่วมใจจึงได้รับการออกแบบให้มีความสมดุล เรียบง่าย ทว่างดงาม เชื่อมโยงธรรมชาติเข้าสู่ผู้คน โดยได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวขจี ให้ความร่มรื่น บรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยการออกแบบให้เป็นสวนอเนกประสงค์ที่สามารถนั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้ได้อย่างเพลิดเพลิน โดยมีจุดเด่นที่การนำต้นไม้ซึ่งให้ประโยชน์มากกว่าแค่ร่มเงาเข้ามาปลูก บริเวณลานกว้างมีการสรรค์สร้างให้เป็นพื้นที่พักผ่อน และใช้เป็นพื้นที่เวิร์กชอปจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับส่งเสริมให้ความรู้เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของผู้มารับบริการ หรือใช้เป็นลานดนตรีในสวน เพื่อสร้างความสุนทรีย์ในอารมณ์ได้อีกด้วย

"ร่มไม้สา" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่
ผู้ออกแบบ : ใจบ้านสตูดิโอ
จากลานจอดรถที่ปกคลุมด้วยแมกไม้เขียวขจี ได้รับการพัฒนาเป็นงานสถาปัตยกรรมภายใต้แนวคิดพื้นที่สีเขียวเช่นเดิม โดยเพิ่มเติมเรื่องความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ที่พักคอยแห่งนี้ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างสวยงาม โดยมีการประชุมเรื่องแนวคิดการพัฒนาภูมิทัศน์ระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สถาปนิก คนไข้ รวมถึงคนในชุมชนว่าอยากพัฒนาพื้นที่ตรงไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน นอกเหนือจากบทบาทการเป็นที่พักคอย ในอนาคตทางโรงพยาบาลวางแผนใช้เป็นลานกิจกรรมกลุ่มย่อยเพื่อให้ความรู้ด้านสุขศึกษาในห้วงเวลาที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

"ระเบียงสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ระเบียงสุขใจสร้างขึ้นบนสวนสวยบริเวณพื้นที่ระหว่างอาคารผ่าตัดและทางเดินเชื่อม คลุมด้วยหลังคาใสที่ให้ความรู้สึกโปร่งสบาย โดยมีกิ่งก้านของไม้ใหญ่ทอดเงาอยู่เบื้องบน ผู้ออกแบบตั้งใจแทรกระเบียงสุขใจไปกับตำแหน่งของต้นไม้เดิมและพุ่มไม้ด้านบน พื้นที่นี้มีร่มเงาของต้นไม้และตึกอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องทำหลังคาทึบ เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นเงาของกิ่งก้านและใบไม้ที่สั่นไหวไปตามแรงลม แสงที่ลอดผ่านมอบความงามอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องปรุงแต่ง ภายในจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่มอบความอบอุ่น สบายใจ ให้อารมณ์เสมือนชานบ้าน

"ชานสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก
ผู้ออกแบบ : กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชานสุขใจออกแบบให้สอดรับกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยเป็นพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดระหว่างส่วนพักคอยสำหรับญาติด้านใน และบริการภายนอกอาคาร เพิ่มลูกเล่นการออกแบบให้โดดเด่นด้วยชานลอยตัวขนาดใหญ่ที่สร้างมิติให้กับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดวางโต๊ะตัวใหญ่ไว้ใช้ประโยชน์ สำหรับนั่งรับประทานอาหาร หรือจะนั่งคุยกันก็เพลินไปอีกแบบ แถมด้วยที่นั่งซึ่งออกแบบให้เอนนอนได้ จึงสามารถเอนกายพักผ่อนเพิ่มพลัง หรือจะอ่านหนังสือเล่มโปรด ดูหนัง ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ ก็ช่วยคลายเครียดได้ไม่น้อย

"ระเบียงกาด" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน
ผู้ออกแบบ : ใจบ้านสตูดิโอ
ระเบียงกาดถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับนั่งพักผ่อนและรับประทานอาหารเป็นหลัก อีกทั้งสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณตลาดให้ถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น ความโดดเด่นคือหลังคาซึ่งใช้แผ่นโปร่งแสงที่นอกจากจะให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย ยังช่วยกระจายแสงธรรมชาติให้เข้ามาภายในโดยไม่ต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน เมื่ออิ่มอร่อย นั่งพักย่อยอาหารแล้ว ระเบียงกาดยังมีกาดสีเขียว ที่จำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อสุขภาพ โดยพ่อค้าแม่ขายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายอย่างปลอดภัย แถมด้วยเสียงเพลงจากวงดนตรีพื้นบ้านที่สลับสับเปลี่ยนมาบรรเลงให้ฟังกันอย่างเพลิดเพลิน

"อาคารเติมสุข" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
ผู้ออกแบบ : ฮอมสุข สตูดิโอ
การออกแบบโดดเด่นด้วยการใช้ทรายล้างและเคลือบสีเพื่อความสวยงาม ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเคลื่อนที่สำหรับรถเข็นผู้ป่วยฉุกเฉินรวมถึงรถเข็นคนพิการ นอกจากนี้ ยังได้ปรับพื้นที่ด้านหน้าอาคาร OPD เป็นจุดจอดรับ-ส่งผู้ป่วยให้เป็นสัดส่วน ทำให้การสัญจรลื่นไหลมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ด้านหน้าอาคารทั้งหมดมีการต่อยื่นโครงหลังคาเหล็กแบบ Truss จากอาคารเดิม ส่วนทางปีกขวาของอาคารมีการปรับแบบโดยเพิ่มพื้นที่นั่งพักคอยบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องยืนรอกันอย่างแออัดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้พื้นที่พักคอยที่เพิ่มมานี้ยังรองรับการใช้งานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโรงพยาบาลจัดขึ้นได้ด้วย

"ลานใจจอมบึง" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
แนวคิดหลักในการออกแบบเป็นไปตามแนวทางของการจัดพื้นที่กายภาพในภาวะ Post COVID-19 อีกทั้งยึดหลักการออกแบบสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยอย่างเท่าเทียม โครงสร้างของลานใจจอมบึงมีความเรียบง่ายแต่โดดเด่นเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน เน้นความร่มรื่น รับลมเย็นจากธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ ศาลาสำหรับนั่งพักมีหลังคาช่วยกันแดดกันฝน พื้นทางเดินสีน้ำตาลเข้มให้อารมณ์อบอุ่น มีการติดตั้งราวจับเพื่อความปลอดภัย เพิ่มกิมมิกด้วยการยกพื้นพร้อมเส้นสายโค้งเว้าเมื่อมองเชื่อมต่อไปยังพื้นที่วงกลมซึ่งโรยไว้ด้วยก้อนกรวดสีขาวที่ให้อารมณ์เซน ส่วนต้นไม้ที่อยู่รายล้อมก็ช่วยผ่อนคลายได้ไม่น้อย

ศาลาปันสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จ.สระแก้ว
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ศาลาปันสุขสร้างขึ้นจากแนวคิดการเชื่อมโยงบริบท "พื้นที่สีเขียว" ของแมกไม้ที่รายล้อมพื้นที่ใช้สอยขนาด 98 ตารางเมตรภายใต้หลังคารูปทรงเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่พัฒนามาจากวงกลม 3 วง ซึ่งเป็นเสมือนภาพแทนของต้นไม้ ยึดโยงด้วยโครงเหล็กแข็งแรงที่มีรูปทรงเสมือนลำต้นของไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่น นอกจากนี้ ศาลาปันสุขยังมีลานโล่งซึ่งผู้ออกแบบได้ออกแบบขึ้นโดยคำนึงถึงกิจกรรมเดิมของผู้ป่วยและญาติที่เคยทำมา นั่นคือการปูเสื่อและผูกเปลนอนใต้ต้นไม้ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินบนสวนหย่อมแห่งนี้

"เฮือนสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น
ผู้ออกแบบ : กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เฮือนสุขใจได้นำลวดลายแคนแก่นคูณมาผสมผสานเข้ากับตัวอาคารเพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ที่ชัดเจน โดยลดทอนรายละเอียดของลายแคนแก่นคูณ นำมาประยุกต์เป็นแพตเทิร์นการเรียงผนังอิฐมอญ ซึ่งเป็นผนังหลักและเป็นจุดรวมสายตาของผู้คน สอดคล้องกับวัฒนธรรมหลักของเมือง การออกแบบพื้นที่ใช้สอยนั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตและลักษณะเฉพาะถิ่น คำนึงถึงพื้นที่ยกระดับในอาคารเรือนพักที่เน้นอิริยาบถในการนั่งพูดคุย และนั่งล้อมวงกินข้าว เฮือนสุขใจยังมีฟังก์ชันพิเศษ คือ สามารถนอนพักค้างได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังมีห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะสำหรับเด็กผู้ชาย รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ

"ศาลากุฉินารายณ์" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ผู้ออกแบบ : ครอส แอนด์ เฟรนด์
ด้วยโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนแต่สะท้อนประโยชน์ที่มีต่อผู้คนในท้องถิ่นอย่างมากมาย ศาลากุฉินารายณ์ไม่เพียงเป็นไปตามจุดมุ่งหมายการรองรับผู้ใช้บริการที่มีจำนวนมาก แต่ยังตอบสนองความต้องการด้านต่าง ๆ ซึ่งฉายภาพต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของคนท้องถิ่น ที่พักคอยนี้ไม่ได้มีเพียงพื้นที่พักคอย แต่ยังมีเวทีการแสดงและพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานในโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายและสาธิตการปรุงอาหารอีสานรสแซ่บนัว หรือกิจกรรมอื่น ๆ เก้าอี้ภายในศาลายังซุกซ่อนความหมายผ่านรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของขาไดโนเสาร์ สัตว์โลกล้านปีที่ทอดร่างอยู่ใต้ผืนแผ่นดินถิ่นกาฬสินธุ์แห่งนี้

"เพาะกล้าตาโขน" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ด้วยวิถีชีวิตตลอดจนบริบทของชุมชนทำให้พื้นที่พักคอยแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่นอย่างสิ้นเชิง จากการลงพื้นที่สำรวจและร่วมปรึกษาหารือระหว่างทีมออกแบบ และผู้เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ที่ได้คือการพัฒนาพื้นที่และเครื่องเล่นภายในสวนสาธารณะสำหรับประชาชนที่อยู่ติดบริเวณด้านนอกโรงพยาบาลให้กลายเป็นอาคารเพาะกล้าตาโขน สนามเด็กเล่นที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการของโรงพยาบาลที่สนับสนุนเรื่องแม่และเด็ก รวมทั้งสัมพันธภาพอันดีภายในครอบครัว ภายในเพาะกล้าตาโขนมีการจัดวางเครื่องเล่นหลากชนิดและสีสันพร้อมป้ายอธิบายการใช้งานที่ดึงดูดให้เด็กเข้ามาออกกำลัง

"เรือนสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี
ผู้ออกแบบ : กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถาปนิกออกแบบตัวเรือนสุขใจให้คล้ายกับชานหรือระเบียงที่ยื่นออกมาจากส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งแต่เดิมมีต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา โดดเด่นด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่รองรับการเข้าถึงและตอบสนองการใช้งานของผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นและผู้พิการ เรือนสุขใจยังมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะนั่ง นอน เดินยืดเส้นยืดสาย อีกทั้งยังสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหาร เป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก ๆ หรือพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครอบครัวอื่น ๆ ที่ต่างก็มารอผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดได้อีกด้วย

"โฮงโฮมสุข" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โฮงโฮมสุขได้หยิบองค์ประกอบเด่น เช่น ลูกกรงราวระเบียง บานประตู และช่องระบายอากาศเหนือประตูของห้องแถวไม้และห้องแถวผสมคอนกรีต ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าจากย่านเมืองเก่าท่าบ่อมาประยุกต์เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นและให้เกิดความร่วมสมัยยิ่งขึ้น โฮงโฮมสุขได้รับการออกแบบเป็นชานยกสูงโดยแยกส่วนให้มีระดับลดหลั่นแตกต่างกันไปเพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งเพื่อเป็นเวทีและพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังได้ประยุกต์แคร่นั่งพักผ่อนบริเวณสองข้างทางเข้าหลักให้เป็นเหมือนศาลา แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยและญาติ อีกทั้งมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยระยะท้ายกับญาติและบุคลากรของโรงพยาบาลให้ได้พบปะกันอีกด้วย

"ศาลาสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม
ผู้ออกแบบ : ครอส แอนด์ เฟรนด์
ศาลาสุขใจถือกำเนิดขึ้นภายใต้ฉันทามติที่ลงตัวในทุกแง่มุม ภายใต้จุดประสงค์หลักเพื่อเป็นพื้นที่รองรับผู้เข้ารับบริการที่ต้องใช้เวลาทั้งวันอยู่ในโรงพยาบาล การออกแบบอาคารบนพื้นที่ระหว่างโรงอาหาร ห้องน้ำ อาคาร IPD และอาคาร OPD เริ่มต้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งได้มาล้อมวงสนทนาระดมไอเดียกันในกลุ่มย่อยก่อนนำแนวคิดของทุกกลุ่มมาผสมผสานจนได้แบบสเกตช์เบื้องต้นที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยมีประเด็นที่สอดคล้องกันคืออยากจะให้ที่พักคอยของโรงพยาบาล มีลักษณะเป็นชานขนาดใหญ่ และมีแคร่อยู่ตรงกลางให้ได้นั่งเอกเขนกดังเช่นที่คุ้นเคย

"เดิ่นบ้าน" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เดิ่นบ้านได้รับการออกแบบโดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ใช้สอยที่รองรับกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากจะเป็นที่พักผ่อนของญาติผู้ป่วยแล้ว ยังรองรับกิจกรรมอื่นได้อย่างหลากหลาย ทั้งการทำโรงทาน การเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ช่วยชุบชูกำลังใจให้กลับคืนมา จุดเด่นสำคัญภายใต้แนวคิดเดิ่นบ้านที่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายคือการนำพืชพรรณทางภูมิทัศน์มาเติมเต็มความเขียวขจี เพิ่มความสดชื่น และเพิ่มพื้นที่เติมออกซิเจนให้แก่ปอด กอปรกับการเลือกใช้วัสดุพื้นผิวไม้เข้ามาผสมผสานกับพื้นหญ้าที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการพักผ่อน อีกทั้งการออกแบบพื้นที่ให้มีการปูหญ้ายังช่วยให้สามารถใช้เท้าเปล่าเดินบนพื้นหญ้าได้อย่างสบายเท้า

"ศาลาเลิงนกทา" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร
ผู้ออกแบบ : ครอส แอนด์ เฟรนด์
ที่ลุ่มมีแอ่งน้ำคือความหมายของคำว่าเลิงในภาษาอีสาน ส่วนนกทาคือนกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายไก่ต๊อกดังที่ปรากฏรูปปั้นขนาดใหญ่หน้าศูนย์ราชการในท้องถิ่น ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ออกแบบนำสภาพแวดล้อมที่กลายเป็นชื่ออำเภอมาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมบนพื้นที่ใช้สอยขนาด 94 ตารางเมตร เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ ในแง่วัสดุก่อสร้างยังมีองค์ประกอบที่ส่งผลและสอดคล้องกับแนวคิดของสถาปัตยกรรม เช่น โซ่ระบายน้ำฝนสีขาวที่ให้ความรู้สึกเบา ลอย ราวกับบินได้คล้ายนก ซึ่งไม่เพียงสวยงามกลมกลืน แต่ฟังก์ชันการใช้งานยังมีประสิทธิภาพดีด้วยรูปทรงและระบบระบายน้ำที่ได้รับการออกแบบเฉพาะตัว ทำใหระบายน้ำฝนออกจากตัวรางได้อย่างรวดเร็ว

"เฮือนโฮมสุข" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ผู้ออกแบบ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาคารไม้หน้าจั่วชั้นเดียว ด้านหน้ามีเพิงขนาดพอเหมาะที่เรียกกันสืบต่อมาว่าทรงหมาแหงนอันคุ้นตาคือหนึ่งในรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองสกลนครที่นำมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยและญาติ ด้วยความตั้งใจจึงนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในนามเฮือนโฮมสุข ซึ่งเป็นคำภาษาถิ่นอีสานที่มีความหมายว่าโรงรวมความสุข เพื่อสื่อถึงการหลอมรวมความสุขในคุณภาพชีวิตที่ดีจากการรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ทางเชื่อมถูกเนรมิตขึ้นเป็นอาคารรูปแบบเรียบง่าย พร้อมแบ่งฟังก์ชันการใช้งานในหลากหลายหน้าที่

"หลาร่มใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
ผู้ออกแบบ : สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ภาพบรรยากาศของผู้คน กำลังใจ รอยยิ้มเสียงหัวเราะ เกิดขึ้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในทุก ๆ วัน ทำให้หลาร่มใจไม่ได้เป็นเพียงที่พักคอย แต่ยังเป็นพื้นที่มีชีวิตและชีวาที่เชื่อมโยงชุมชนกับโรงพยาบาลให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน หลาร่มใจออกแบบภายใต้แนวคิดการเลื่อนไหลของผู้ป่วยและญาติ โดยสร้างความเชื่อมต่อระหว่างอาคาร OPD สู่อาคารพักญาติได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมทั้งมีพื้นที่นั่งพักตลอดแนวทางเดินที่มีหลังคาคลุมกันแดดกันฝน แถมยังมีลูกเล่นอยู่ที่สายโซ่ลายดอกไม้ซึ่งห้อยยาวตั้งแต่หลังคาลงมาเกือบจรดพื้น เพื่อช่วยรองรับไม่ให้น้ำฝนไหลสาดเข้ามาตลอดแนวโถงทางเดิน โดยน้ำฝนจะค่อย ๆ ไหลรวมผ่านสายโซ่ลงมาให้บรรยากาศแบบเซนอันแสนสงบเย็น ซึ่งเสริมฟังก์ชันการใช้งานให้โถงทางเดินและหลาร่มใจมีเสน่ห์ได้

"เรือนอุ่นใจศรีญาฮา" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา
ผู้ออกแบบ : สถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน
เรือนอุ่นใจศรีญาฮาเกิดขึ้นจากอาคารสหกรณ์เดิม ซึ่งทีมสถาปนิกได้ปรับปรุงให้กลายเป็นโรงอาหารเรือนอุ่นใจศรีญาฮาที่มีการแบ่งฟังก์ชันการใช้งานเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยออกแบบชั้นล่างให้เป็นลานกว้างสำหรับนั่งรับประทานอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของชาวบ้านที่จะนำอาหารมารับประทานกันเองในกลุ่มครอบครัวเครือญาติ ในขณะที่พื้นที่บริเวณชั้นลอยออกแบบให้เป็นที่รับประทานอาหารของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งแขก วิทยากร ในกรณีที่โรงพยาบาลจัดกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีลานอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาวะแก่ผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลด้วย

"ลานสุขใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
ผู้ออกแบบ : กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่มีขนาดใหญ่ถึง 817.5 ตารางเมตร ลานสุขใจจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่พักคอยเท่านั้น แต่ยังปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยในส่วนอื่น ๆ ให้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงเพื่อตอบสนองการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด การปรับปรุงเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณพื้นที่ทางเชื่อมหน้าโรงพยาบาลระหว่างอาคาร OPD หลังเดิมและอาคารหลังใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม พร้อมกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นมิตรแก่ญาติผู้ป่วยที่มาพักรอ รวมทั้งปรับปรุงทางลาดและบันไดเพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐาน เหมาะสำหรับการใช้งานจริง

"โรงอิ่มใจ" โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี
ผู้ออกแบบ : กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงอิ่มใจเกิดขึ้นแทนอาคารซ่อมบำรุงเดิม โดยได้ปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นพื้นที่โรงครัวและพื้นที่รับประทานอาหารที่เน้นความโปร่ง โล่ง สบาย คำนึงถึงการออกแบบที่ผ่านการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ โดยเน้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างสถาปัตยกรรม บริบท และผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหรือการนั่งพักคอย ทั้งยังแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้บริการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ และพื้นที่สำหรับเก็บภาชนะ จาน ชาม แก้ว หลังรับประทานอาหารเสร็จอีกด้วย รวมถึงอีกหนึ่งฟังก์ชันสำคัญ คือ การเป็นพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามวัย ตามโรค และคำนึงถึงโภชนาการเพื่อสุขภาวะที่ดี

ผู้สนใจที่มาและแนวคิดในการออกแบบพื้นที่พักคอยทั้ง 21 แห่ง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ 21 พื้นที่แห่งความสุข https://www.scgfoundation.org/program/crown-prince-hospital-project/