'บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่' รุกใหญ่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังยื่นไฟลิ่ง มุ่งสู่ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

12 Jan 2022

บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ รุกใหญ่ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสู่ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รับเมกะเทรนด์ Green Energy ชูจุดแข็งความมั่นคงด้านวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย ตลอดจนการจัดการวัตถุดิบและนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเข้า Zero Waste เพื่อความยั่งยืน วางเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นกว่า 200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 29.7 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ที่อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะหนุนกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็นกว่า 50 เมกะวัตต์

'บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่' รุกใหญ่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังยื่นไฟลิ่ง  มุ่งสู่ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายขยายการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเห็นโอกาสจากความตื่นตัวด้าน Green Energy หรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 'เมกะเทรนด์' ของโลกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการจากพลังงานฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป มาสู่การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ตามนโยบายของภาครัฐที่จะลดการปล่อยเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 - 2070

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีจุดแข็งจากการเป็นบริษัทในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่มีสวนปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก จึงช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาทะลายปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ผนวกเข้ากับจุดแข็งด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย รองรับเชื้อเพลิงชีวมวลได้หลากหลายชนิด อาทิ ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม ไม้ชิพ รากไม้สับ ฯลฯ จึงมีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้เป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าความชื้นสูงและค่าความร้อนต่ำ จึงทำให้โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เข้าใกล้รูปแบบมลพิษเป็นศูนย์หรือ 'Zero Waste' ซึ่งช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมสอดคล้องกับนโยบายด้าน ESG ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคมและดำเนินธุรกิจภายใต้ธรรมาภิบาล ตลอดจนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยภายใต้กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จึงไม่ปล่อยมลภาวะและของเสียสู่ชุมชน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมโดยรอบ โดยการเปิดรับซื้อวัตถุดิบชีวมวลหลากหลายประเภทจากเกษตรกรโดยรอบ เพื่อเสริมสร้างรายได้และยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบแก่โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ อีกด้วย รวมถึงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตควบคู่กับการเติบโตอย่างยั่งยืน

"โรงไฟฟ้าของเราถือว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ Power Development Plan (PDP) ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานชีวมวล, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานจากขยะ ฯลฯ ให้มากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงมีความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น" นายพงศ์นรินทร์ กล่าว

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE กล่าวว่า บริษัทฯ จะขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่หลากหลายยิ่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นประมาณ 90 เมกะวัตต์ (MW) ในอีก 4 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็นกว่า 200 MW ภายในปี 2575 จาก ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW

บริษัทฯ ยังมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ในจังหวัดสระแก้ว ราชบุรี และชุมพร ที่ได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอยู่ระหว่างพัฒนา มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ และปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมประมาณ 16 MW คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในไตรมาส 1/2565 และเริ่ม COD ภายในปี 2567 ทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 51.7 MW และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 36.3 MW นอกจากนี้ ยังได้วางแผนเติบโตในระยะยาวจากการเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท.อีก 4 โครงการ คาดว่าจะเปิดคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในไตรมาส 1/2565 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนชั้นนำที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีการผลิตการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความยืดหยุ่นด้านวัตถุดิบ และยังให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า วัตถุดิบ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบชีวมวลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จากความได้เปรียบเทียบด้านทำเลที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ในพื้นที่แหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญ และการเป็นบริษัทในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่

ล่าสุด บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 27.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

HTML::image(