"มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท" ขับเคลื่อนแผน ปี 65 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน - พัฒนาคุณภาพชีวิต - สร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้านเกษตร

01 Feb 2022

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สานต่อปณิธานตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท ตลอด 33 ปีของการดำเนินงาน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนงาน 4 ด้านหลัก พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ขจัดความยากจน ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย"สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี ชุมชนสิ่งแวดล้อมดี " ร่วมร้อยเรียงความดี ในวาระ 100 ปี เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)

"มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท" ขับเคลื่อนแผน ปี 65 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน - พัฒนาคุณภาพชีวิต - สร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้านเกษตร

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยตลอด 33 ปีที่ผ่านมา ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 นี้ จะมุ่งสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้านหลัก คือ ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ด้านขจัดความยากจน ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมาย "สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี "

"ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท ซึ่งจะเป็นแนวทางของการดำเนินงานในปีนี้ ที่มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปีนี้เครือซีพีจัดกิจกรรมร้อยเรียงความดี ในโอกาสดำเนินงานสู่ปีที่ 100 จึงถือโอกาสเชิญชวนร่วมกันทำความดี และมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ " นายจอมกิตติ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินโครงการและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลเชิงบวกทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และเกษตรกรในชนบท โดยในปีนี้ มูลนิธิฯ มีแผนสานต่อโครงการที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตร การบริหารจัดการเกษตรเชิงธุรกิจ

นายจอมกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการด้านเด็กและเยาวชนที่จะดำเนินการปีนี้ อาทิ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน แก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 905 โรงเรียน นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่อย่างน้อยคนละ 3 ฟอง/สัปดาห์ หรือคนละ 120 ฟอง/ปี นอกจากนี้ ตั้งเป้านำร่องโรงเรียนตัวอย่างมุ่งสู่การบริหารจัดการในรูปแบบ Social Enterpriseโครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับเยาวชนในเมืองและมีศักยภาพในการกลับไปพัฒนาชุมชนตนเอง ปัจจุบันมีเยาวชนในโครงการ 203 คน ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาและประกอบสัมมาชีพ โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีใจรักด้านการเกษตร อีกทั้งเป็นต้นแบบศูนย์ส่งเสริมและสาธิตการพัฒนาเกษตร 4.0 เพื่อเป็นศูนย์สาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลสู่เกษตรกร รวมถึงฝึกทักษะงานเกษตรแก่เยาวชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ที่ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ จากการดำเนินงานกว่า 19 ปี มีเด็กอุปการะร่วมโครงการ 346 คน ดูแลให้เด็กๆ ให้มีครอบครัว ได้รับความรักและความอบอุ่น เกิดการร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดี พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีให้สังคม

ในด้านการขจัดปัญหาความยากจน มีโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรที่สามารถขยายผลสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ยกตัวอย่าง โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ 7 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบการทำงานของสหกรณ์ ผู้นำสหกรณ์ ส่งเสริมอาชีพสมาชิก และพัฒนาเยาวชนลูกหลานรักษ์สหกรณ์ โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่ราษฎรในโครงการฯ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เท่า ภายใต้แนวคิด "บวร" โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ส่งเสริมอาชีพหลากหลาย ให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพตามความพร้อม มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อขับเคลื่อนการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ส่งเสริมการออม ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการขับเคลื่อนงานยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีจากเดิม 12,300 บาท เป็น 44,000 บาท ร่วมกับภาคีเครือข่าย และโครงการการตลาดร้านค้าชุมชน / E Commerce ยกระดับศักยภาพร้านค้าชุมชนในชนบท ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนให้ความรู้ การจัดการร้านค้า และแนวทางธุรกิจขายยุคใหม่ พร้อมให้ชุมชนมีส่วนร่วมนำสินค้ามาขายด้วยช่องทางบน Platform ต่างๆ มีร้านค้าชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 ร้านค้า

สำหรับด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย มีโครงการศูนย์เรียนรู้สุขภาพผู้สูงวัย เพื่อผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ดำรงชีวิตมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนเกิดวิสาหกิจชุมชน และโครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล เพื่อยกย่องและกตัญญูต่อผู้สูงอายุ บรรเทาความทุกข์ยากของผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล โดยมอบเงินดำรงชีพผู้สูงอายุ รายละ 2,000 บาท/เดือน นำร่องพื้นที่จังหวัดนครพนม และเชียงราย

ด้านรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ได้แก่ โครงการปลูกป่า "อมก๋อย โมเดล" ภายใต้แนวคิด "อมก๋อยโมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ" ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในอำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 10,000 ไร่ สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน และสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

"มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท" ขับเคลื่อนแผน ปี 65 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน - พัฒนาคุณภาพชีวิต - สร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้านเกษตร