ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารในยุคศตวรรษที่ 21 นั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป เพราะในโลกยุคใหม่นี้ใครๆ ก็เป็นนักสื่อสาร หรือ นักเล่าเรื่องราวที่ดีได้ เพียงแค่มีทักษะการสื่อสารที่ดี คอนเทนต์ที่ปัง พร้อมช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ก็สามารถสร้างแจ้งเกิดให้กับคนธรรมดาให้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางโลกโซเชียลได้เลย เฉกเช่นเดียวกับ ครีเอเตอร์ หนุ่มสุดฮอต 'ไอซ์ สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล' อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของช่อง AJ ICE จากแฟลตฟอร์ม TikTok ที่หยิบยกเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาย่อยให้เข้าใจง่าย ดึงดูดคนดูด้วยลีลาการเล่าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทำให้มีผู้ติดตามถึง 2 ล้านราย นอกจากนี้ หนุ่มไอซ์ ยังมีดีกรีถึง ด็อกเตอร์ ด้าน ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร (Imperial College London) โดยบทความในวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตัวแทนชาวไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่ได้ร่วมแข่งขัน FameLab International 2021 เวทีสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่มีผู้เข้าแข่งขันจาก 25 ประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้ารางวัล The Audience Choice มาครอง พร้อมแชร์ 3 ทริค สุดปัง สู่การเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ดีกรีรางวัลระดับโลก
ครีเอเตอร์ สายวิทย์ ที่มียอดคนดูกว่า '100 ล้าน Like'
ดร. สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึง จุดเริ่มต้นของการทำช่องใน TikTok ว่า เริ่มต้นมาจากที่ตนเองนั้นเพิ่งได้รับการบรรจุใหม่เป็นอาจารย์ ซึ่งในขณะนั้นตนยังไม่มีความมั่นใจในทักษะด้านการพูด ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทาง TikTok มีแคมเปญ TikTok Uni ซึ่งสนับสนุนครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์ด้านความรู้ ในหลายแขนงวิชาและทักษะความสามารถมาส่งต่อความรู้ในรูปแบบคอนเทนต์วิดีโอสั้นๆ ตนเลยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการทำคอนเทนต์และพัฒนาการสื่อสารของตนเองไปด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งต่อความรู้วิทยาศาสตร์ที่คนสนใจแต่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยากมาสื่อสารในรูปแบบของคอนเทนต์ที่เข้าใจได้ง่าย ผ่านแฮชแท็ก #วิทย์ที่คุณไม่รู้ เช่น เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ หรือปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับโลกดาราศาสตร์และอวกาศ มาย่อยและไขข้อสงสัยเป็นวิดีโอเนื้อหาสั้นตามรูปแบบของแพลตฟอร์ม โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่นักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ จนปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านราย และมียอดกดไลก์สูงถึง 105 ล้านไลก์
"เพราะวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราแต่เรากลับมีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์สอนให้เราคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลเป็นหลัก หากคนในสังคมได้รับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี มีความคิดเชิงเหตุผลแบบนักวิทยาศาสตร์ ก็จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและทำให้เราไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะข่าวสารตามโซเชียลมีเดียที่มีให้เห็นว่าผิดอยู่เรื่อย ๆ"
ตัวแทนชาวไทยคว้ารางวัลในเวที 'เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021'
ดร.ไอซ์ เปิดเผยถึงประสบการณ์ในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวที เฟมแล็บ อินเตอร์เนชันแนล 2021 ว่าตนรู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับการแข่งขันในรอบระดับนานาชาติเพราะได้เข้าไปเจอกับผู้เข้าแข่งขันที่เป็นสุดยอดของแต่ละประเทศ ซึ่งการแข่งขันในรอบนี้คือการเฟ้นหาที่สุดของที่สุดของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทำให้ตนนั้นได้เตรียมตัวซักซ้อมทำการบ้านอย่างหนัก โดยหัวข้อที่นำไปแข่งขันคือ "พลังของการคาดการณ์ท่ามกลางภาวะโรคระบาด (The power of prediction amid the pandemic)" ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกที่ว่าด้วยเรื่องของการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของไวรัสเพื่อเป็นหนึ่งในก้าวแรกของการศึกษาพัฒนาวัคซีนและรักษาโรคระบาดอย่างโควิด-19 ด้วยความพยายามและการฝึกฝนมาอย่างหนักจึงทำให้ หัวข้อที่นำเสนอนั้นโดนใจคณะกรรมการและผู้ฟังจากทั้ง 25 ประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้ารางวัลขวัญใจผู้ชมหรือ The Audience Choice มาจนได้
ดร. ไอซ์ ยังเล่าต่ออีกสิ่งที่ตนได้รับจากการเข้าร่วมครั้งนี้ คือ การร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พัฒนาทักษะการสื่อสารจากมาสเตอร์คลาส นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เทคนิคการสื่อสารของแต่ละประเทศ รวมถึงได้พบกับอดีตแชมป์ "เฟมแล็บ" ในปีต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในสายงานวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับตน และที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในสายงานวิทยาศาสตร์ซึ่งกันและกัน อย่างตนเองก็ได้มีการพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาเรื่องไวรัสเดงกีที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นเรื่องที่ตนสนใจอยู่เช่นกัน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้หลังจากที่คว้ารางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตนยังได้รับโอกาสต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการเป็นพิธีกรในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรให้ร่วมแชร์ความรู้และเทคนิคกับการใช้ภาษาอังกฤษและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกด้วย
3 ทริค สุดปัง ย่อยเรื่องวิทย์ยากๆ เป็นเรื่องง่ายๆ
ทั้งนี้กว่าจะมาคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะต้องผ่านการเตรียมตัวและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น ดร.ไอซ์ ยังได้ร่วมแชร์ 3 ทริคสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรที่จะช่วยเปลี่ยนจากเรื่องยากๆ เป็นเรื่องสนุก ใน 3 นาที รวมทั้งมัดใจทั้งกรรมการและผู้ฟังให้อยู่หมัด อันได้แก่ 1. เนื้อหาถูกต้องชัดเจน (Correct and Accurate Content) แน่นอนว่าการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์นั้นต้องการอาศัยความถูกต้องแม่นยำ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนที่ได้รับฟัง 2. สื่อสารเข้าใจง่าย (Easy to follow) เพราะเรื่องของวิทยาศาสตร์และงานวิจัยหลายครั้งเป็นเรื่องที่คนเข้าถึงได้ยาก นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีควรจะต้องย่อยเนื้อหาให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และ 3. การนำเสนออย่างมีเสน่ห์ และน่าสนใจ (Charisma) ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในเรื่องใดก็ตาม คนฟังย่อมอยากฟังผู้พูดที่มีแรงดึงดูดให้ชวนน่าหลงใหลและติดตามเนื้อหา ซึ่งเรื่องของการบริหารเสน่ห์นั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคและสไตล์ของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการเตรียมตัวและฝึกซ้อมมาอย่างดีก็จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ออกมาเป็นธรรมชาติ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า เฟมแล็บ เป็นเวทีการแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ถือเริ่มต้นจากเทศกาลเชลต์นัมในสหราชอาณาจักร และบริติช เคานซิล ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์มายาวนานกว่า 15 ปี และได้ส่งเสริมการแข่งขันในระดับประเทศกว่า 40 ประเทศ โดยสำหรับในประเทศไทยเองได้ดำเนินการจัดแข่งขัน โครงการ 'เฟมแล็บ' อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับทุกคน นอกจากนี้ 'เฟมแล็บ' ยังถือเป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ตลอดจนการยกระดับความรู้ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล
สำหรับการแข่งขัน "เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021" (FameLab Thailand 2021) นั้นเป็นการดำเนินการในปีสุดท้ายของ
บริติช เคานซิล ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน หลังจากนี้ โครงการ เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2022 จะดำเนินการโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารวิทยาศาสตร์และงานวิจัยให้กับบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ
"อย่างไรก็ตาม บริติช เคานซิล ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาด้านความเชื่อมั่นต่อวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ และขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ ผ่านการดำเนินงานโครงการ Going Global Partnerships ต่อยอดผลผลิตจากเวทีเฟมแล็บ และเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป" นางเฮลก้า สรุปทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit