ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตสำหรับศตวรรษดิจิทัล

31 Jan 2022

ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย จากแหล่งข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกประเภทต้นๆ ของประเทศ มีมูลค่ารวมถึง 31 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2563 นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันดับที่ 13 ของโลกในปัจจุบันอีกด้วย

ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตสำหรับศตวรรษดิจิทัล

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นทั่วโลก บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยจึงได้ระดมทรัพยากรและเร่งการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วน รวมถึงดูแลให้ห่วงโซ่อุปทานยืดหยุ่นเข้มแข็งด้วย

หนึ่งในบริษัทเหล่านี้ก็คือ บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (TST) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายบริษัทของโตชิบาในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดิสครีตที่แข็งแกร่ง อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดแยกชิ้นแทรกซึมอยู่ทุกที่ในชีวิตประจำวันของเรา พบได้ในอุปกรณ์สมัยใหม่แทบทุกชนิด ตั้งแต่โทรศัพท์สมาร์ตโฟนไปจนถึงยานยนต์ และส่วนประกอบชนิดแยกชิ้นต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักมีหน้าที่เฉพาะเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ โตชิบาผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตหลักๆ 3 ประเภทด้วยกัน คือ อุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็ก (small signal devices) อุปกรณ์ออปโต (Opto devices) และ อุปกรณ์กำลัง (power devices) TST ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2533 ทำหน้าที่ดูแลกระบวนการส่วนหลัง (back-end) ที่เกี่ยวกับการประกอบและทดสอบอุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็กและอุปกรณ์ OPTO

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำในฐานะกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล

บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (TST) ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 140 กม. แม้อุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็กและอุปกรณ์ออปโต โดยเฉพาะโฟโตคัปเปลอร์ (photocouplers) ที่ TST ผลิตจะมีขนาดเล็ก แต่ก็นับเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัล

โตชิบาเป็นหนึ่งในผู้นำวงการอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตของโลก และบริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (TST) มีโรงงานผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตระดับโลก

โดยทั่วไปแล้ว โตชิบาใช้คำว่า อุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็ก กับทรานซิสเตอร์ (transistors) และไดโอด (diodes) ที่มีการกระจายกำลังไม่เกินหนึ่งวัตต์ อุปกรณ์เหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมกระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าต่ำๆ ในอุปกรณ์หลากหลายชนิด เช่น โทรศัพท์สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ ทั้งยังจำเป็นต่อการเพิ่มหรือเปลี่ยนแรงดันและการแปลงพลังงานด้วย ทั้งนี้ TST ได้เพิ่มกำลังการผลิตอุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็กเนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมผู้ใช้ปลายทางเพิ่มสูงขึ้น

บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (TST) ผลิตโฟโตคัปเปลอร์ ซึ่งสามารถแยกสัญญาณออปติก ระหว่างวงจรได้อย่างดีเยี่ยม

โฟโตคัปเปลอร์เป็นอุปกรณ์ออปโตชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยหลอดไดโอดเปล่งแสง (LED) และอุปกรณ์ตรวจจับแสง ทำงานโดยใช้แสงส่งสัญญาณระหว่างชิปสองแผ่นที่แยกออกจากกัน โฟโตคัปเปลอร์มักถูกนำไปใช้เป็นอุปกรณ์สวิตช์เพื่อส่งสัญญาณคลื่นระหว่างระบบแรงดันสูงและระบบแรงดันต่ำ รวมถึงใช้ในระบบป้อน (feedback control loop) ของวงจรรักษาระดับแรงดันแบบสับเปลี่ยน (switching regulators) เพื่อป้องกันไฟกระชากหรือสัญญาณรบกวน โฟโตคัปเปลอร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะกลไกความปลอดภัย โดยเฉพาะในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ในโรงงานและยานยนต์ ซึ่งต้องเผชิญกับไฟกระชาก สัญญาณรบกวนชั่วขณะ และสัญญาณรบกวนระดับสูง

กระบวนการส่วนหลังที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็กต้องอาศัยความแม่นยำและปริมาณชิ้นงานที่สูงมาก TST ดำเนินการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและระบบควบคุมขั้นสูงตลอดทั้งกระบวนการ พร้อมทั้งมีระบบ ไอทีล้ำสมัยสนับสนุน ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ วิเคราะห์ข้อมูลและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้รักษาระดับมาตรฐานคุณภาพให้สูงอยู่เสมอ รวมถึงยังมีระบบตรวจสอบข้อมูลที่ช่วยให้ตรวจจับและแก้ไขความผิดปกติได้ทันที

สิ่งที่ทำให้โตชิบาแตกต่าง

ถึงแม้จะประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 แต่ TST ก็สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการหันมาลงทุนสร้างสายการผลิตล้ำสมัย และย้ายโรงงานผลิตมายังสถานที่ในปัจจุบันซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิมในปีพ.ศ. 2556 ทั้งยังปรับปรุงผังการจัดวางสายการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้สูงสุด การลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตครั้งนี้ หรือที่เรียกว่า กระบวนการประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Process) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดวัตถุดิบเหลือทิ้ง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ช่วยควบคุมกระบวนการผลิต นอกจากนั้น บริษัทยังได้ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ ทั้ง ISO 9001: 2015 และ IATF 16949: 2016 เพื่อรองรับลูกค้าและอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยอีกด้วย

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำมาซึ่งความท้าทายด้านการคมนาคม การจัดหาวัตถุดิบ และทำให้เกิดข้อจำกัดด้านจำนวนพนักงานในโรงงานผลิต แต่ TST ก็ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ทำสัญญาช่วงเพื่อให้กระบวนการผลิตได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเร่งการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต รวมทั้งเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของสายการผลิตเพื่อให้ผลิตได้เต็มกำลัง นับเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลังขั้นตอนการออกแบบและการผลิตนำร่องในญี่ปุ่น

ในยุคที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ (VUCA: Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมการผลิตให้มีความยืดหยุ่นฟื้นตัวเร็ว รวมถึงเพิ่มความร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า อันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติเช่นภัยธรรมชาติและโรคระบาด ทั้งนี้ TST ได้แสดงความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถไปอีกขั้น ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

นอกเหนือจากอุปกรณ์สำหรับสัญญาณขนาดเล็กและอุปกรณ์ออปโตที่ TST ผลิตมากว่า 30 ปีแล้ว TST ยังได้รับการถ่ายโอนให้ดูแลอุปกรณ์กำลัง (Power Device) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประหยัดพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ประเภทนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัท โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ ดีไวซ์ แอนด์ สโตเรจ คอร์ปอเรชั่น (TDSC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TST ในญี่ปุ่น ได้เร่งขยายการผลิตอุปกรณ์กำลังทั้งในกระบวนการส่วนหน้าและส่วนหลัง โดยได้ลงทุนในการผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาด 300 มม. ที่คากะ โตชิบา อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ปอเรชั่น จังหวัดอิชิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น และสายการผลิตที่ TST ทั้งนี้ TST มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายสายการผลิตให้เป็นไปอย่างราบรื่นและลดเวลาการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด แม้ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิดระบาด วิศวกรที่เก่งกาจของบริษัทในประเทศไทยก็ยังสามารถติดตั้งสายการผลิตได้สำเร็จโดยไม่ต้องให้ทางญี่ปุ่นลงไปสนับสนุนในพื้นที่โรงงานเลย นอกจากนั้น ทางทีมยังทำงานกับ TDSC อย่างใกล้ชิดเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตอุปกรณ์กำลัง จากทางไกลในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ด้วย

เนื่องจาก TST เป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่ดูแลกระบวนการส่วนหลังที่ใหญ่ที่สุดของโตชิบา ทางโตชิบาจึงคาดหวังให้ TST ทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตหลักในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก รวมถึงลงทุนเพื่อนำผลิตภัณฑ์อื่นมาผลิตที่นี่ เช่น อุปกรณ์กำลัง ซึ่งมีการใช้งานในหลากหลายวงการ ทั้งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ยานยนต์ และอุปกรณ์อุตสาหกรรม

คำมั่นสัญญาต่อประชาชน คำมั่นสัญญาต่ออนาคต
บริษัทเชื่อมั่นว่าบุคลากรเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุด พนักงานท้องถิ่นจำนวน 1,000 คนได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและเข้าแข่งขันด้านเทคนิคกับพนักงานจากทั่วทั้งกลุ่มในแต่ละปีเพื่อเพิ่มศักยภาพของระดับท้องถิ่นในการสนับสนุนกระบวนการผลิตส่วนหลังขนาดใหญ่ นอกจากนั้น TST ยังส่งเสริมโครงสร้างองค์กรแบบกระจายอำนาจที่เคารพการตัดสินใจในการทำงานจริงและมุ่งส่งเสริมให้พนักงานตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตนักศึกษาที่เลือกเรียนในประเทศไทยและญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อุตสาหการ

TST มุ่งมั่นคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและโรงงาน ทั้งยังได้เข้าร่วมในโครงการประหยัดพลังงานด้วยการตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงานรายวัน ทั้งนี้ นอกจากจะเน้นออกแบบโรงงานตามหลักการโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว TST ยังได้ติดตั้งหลอดไฟแอลอีดีประหยัดทั้งโรงงานและออกแบบอาคารให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึงในพื้นที่การผลิตด้วย

ประธานบริษัท TST นายมาซาฮิโระ โอกุชิ กล่าวว่า "โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) พร้อมรองรับความต้องการอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำชนิดดีสครีตของทั้งโลก เราได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากรัฐบาล มีโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย ขีดความสามารถในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายเชื่อมโยงระดับโลก ทั้งยังมีพนักงานทักษะสูงที่พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่คึกคักของไทย ทั้งนี้ TST ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัทในเครือข่ายของโตชิบาเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต"

HTML::image(