กลุ่ม Free Spirit Thailand และความสุขประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา "เหนื่อย - เบื่อ - แย่ - เครียด" วัยรุ่นไทยไม่ไหวแล้ว ชวนดูแลจิตใจที่ CLUB WELLNESS เปิดผลสำรวจออนไลน์สถานการณ์สุขภาพจิตวัยรุ่นไทย พบวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เด็กและเยาวชน "เหนื่อย - เบื่อ - แย่ - เครียด" การเรียนออนไลน์ทำให้ต้องปรับตัวกับครอบครัวมากขึ้น ขาดความสัมพันธ์กับเพื่อน เกิดความเครียด ความรู้สึกไม่แน่นอน มีปัญหาในการเข้าสังคมและปัญหาทางใจ เยาวชนส่วนใหญ่ระบุว่ายังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ภายในงานจึงได้มีการเปิดตัวเฟซบุ๊ก "CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ" มุ่งหวังให้วัยรุ่นไทยได้ใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเครื่องมือในการดูแลสุขภาพใจ
คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาผู้อำนวยการสำนัก สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "Unicef ให้ความหมายไว้ว่า วัยรุ่นเป็นช่วงทศวรรษที่สองของชีวิตที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยของโอกาสและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากผลสำรวจสุขภาพจิตที่ผ่านมาหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นตรงกันว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ วัยรุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบซึ่งเราควรให้ความสำคัญ งานของ สสส. และภาคีเครือข่ายในวันนี้ คือการทำให้เด็กและเยาวชนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพใจ ได้มีพื้นที่ในการส่งเสียงของเขาออกมา รวมถึงมีเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาก้าวพ้นปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ เรายังหวังว่างานในวันนี้จะเป็นการสื่อสารสร้างค่านิยมใหม่แก่สังคมว่า เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ การไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ รวมถึงยังมีพื้นที่ปลอดภัยและมีเครื่องมือหลากหลายที่จะช่วยเขาให้ก้าวพ้นจากปัญหาตรงนี้ไปได้"
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า "ผมคิดว่าสิ่งที่เยาวชนในวันนี้ต้องการคือพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะได้แสดงความรู้สึกของตัวเองออกไป ถ้าเรามองในมุมนี้ นักจิตวิทยาไม่ใช่แค่ผู้รักษา แต่เขาเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน ปัญหาคือสถานการณ์ขณะนี้เด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งอาจยังรู้สึกว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ดังนั้น ทักษะสำคัญหนึ่งที่เยาวชนควรมี คือการมี Self-Awareness การตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเอง และ Self-Reflection คือความสามารถในการสะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมา ถ้าเราสามารถเรียนรู้การรับฟังกันและกันโดยไม่ตัดสิน แล้วเรามารวมกลุ่มกัน ใช้ทักษะนี้ช่วยเหลือกัน มันก็จะช่วยเยียวยาตรงนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ทางเว็บไซต์ความสุขประเทศไทยเองก็มีกิจกรรม เช่น CLUB CITIZEN ซึ่งเป็นการชวนคนรุ่นใหม่เรียนรู้พื้นที่ปลอดภัยเพื่อดูแลความขัดแย้งท่ามกลางความหลากหลาย และกิจกรรม "ฟังสร้างสุข" ที่เป็นพื้นที่ฝึกทักษะการรับฟัง ทำให้เยาวชนสามารถดูแลรับฟังเพื่อนที่มีภาวะ เหนื่อย-เบื่อ-แย่-เครียด ได้ดีขึ้นด้วย"
คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง จาก Thaiconsent กล่าวว่า "ผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในวันนี้มาจากการสำรวจเด็กและเยาวชนวัย 12-17 ปี และ 18-22 ปีในพื้นที่อินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตต่อมิติโดยรวมผ่านกลุ่มตัวอย่างราว 1,400 คนทั่วประเทศไทย โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า เยาวชนในช่วงอายุ 12-17 ปี รู้สึกไม่แน่ใจว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่กว่า 43.6% ในขณะที่เยาวชนในช่วงอายุ 18-22 ปี ราว 38% ระบุว่า มีปัญหาสุขภาพจิตแต่ยังดูแลตนเองได้อยู่ ขณะที่มีกลุ่มซึ่งไม่แน่ใจว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่กว่า 41.6% โดยทั้ง 2 กลุ่มระบุตรงกันว่า ต้องใช้ความพยายาม หากต้องใช้บริการด้านสุขภาพจิต
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เยาวชนเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพจิต เกิดจากทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่สนับสนุนการเข้าพบจิตแพทย์ นอกจากนี้ กลุ่มคำที่เยาวชนไทยที่ร่วมทำการสำรวจได้เลือกให้นิยามความรู้สึกต่อปีที่ผ่านมา พบว่า คำที่ถูกเลือกมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ "เหนื่อย - เบื่อ - แย่ - เครียด" และพบว่า เยาวชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการเรียนจากที่บ้าน ซึ่งไม่ได้มีเพียงผลกระทบต่อด้านการเรียน แต่ยังกระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว โดยเฉพาะการไม่มีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ หรือทำกิจกรรมทางสังคมกับคนในวัยเดียวกัน"
ภายในงาน ยังมีการพูดคุยร่วมกับคุณภัทธนัน เตชะเสน นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมาแบ่งปันถึงผลสำรวจจากการทำโฟกัสกรุ๊ปกับเยาวชนซึ่งพบสถานการณ์เดียวกันว่า วัยรุ่นไทยกำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์จากการขาดความสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคม โลกออนไลน์ทำให้เยาวชนเกิดความสับสนในการทำความเข้าใจกับตัวเอง และคุณพิมพัจฉรา โกมารชุน ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Understand ที่มาแบ่งปันตัวอย่างของการรวมกลุ่มทางช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ของการดูแลสุขภาพใจ ช่วยเยียวยาความทุกข์ให้กับคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ วัยรุ่นที่มีปัญหาหนักใจ รู้สึกวิตกกังวล หรืออยากแบ่งปันกำลังใจดีๆ สามารถเข้าร่วมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ www.facebook.com/groups/clubwellnessthailand เพื่อฟื้นฟูสุขภาวะด้านจิตใจ ลดความวิตกกังวลถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดความเครียด นำไปสู่การสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตทั้งการเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวต่อไปได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit