ปวดหัวตำแหน่งไหน... กำลังบอกอะไรคุณ?
อาการปวดศีรษะถือเป็นปัญหาสุขภาพเบื้องต้นของคนส่วนใหญ่ที่สร้างความน่ารำคาญและทำให้หงุดหงิดใจได้อยู่ไม่น้อย หลายคนอาจมองข้ามอาการปวดที่เกิดขึ้น เพียงเพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเครียด พักผ่อนน้อย หรือใช้สายตามากเกินไป แต่! ไม่อยากให้ชะล่าใจไป เพราะอาการปวดศีรษะที่เป็นอยู่นั้นอาจจะกำลังเตือนเราอยู่ก็เป็นได้ว่ามีความผิดปกติซ่อนอยู่
ใครที่ปวดศีรษะบ่อยๆ จะต้องหมั่นสังเกตอาการปวดที่ตัวเองเป็นอยู่ว่าเกิดขึ้นบริเวณตำแหน่งใด ปวดมากน้อยแค่ไหน ลักษณะการปวดเป็นอย่างไร เพราะตำแหน่งและอาการปวดศีรษะแต่ละครั้งสามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงของโรค หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราระวังตัวได้ด้วย...แล้วอาการปวดศีรษะตำแหน่งไหน? บ่งบอกถึงโรคอะไรบ้างมาดูกัน
- เครียด : ปวดรอบศีรษะ อาการปวดหัวรอบศีรษะถือเป็นอาการที่พบมากที่สุด เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ มักพบในตำแหน่งบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง หรือบางครั้งก็อาจจะปวดร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะ ต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ ซึ่งอาการปวดหัวในตำแหน่งนี้สัมพันธ์กับความเครียด
- ไมเกรน : ปวดขมับด้านใดด้านหนึ่ง อาการปวดหัวบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง หรือบางคนอาจมีอาการปวดสลับข้างกัน และอาจมีอาการอาการปวดร้าวที่กระบอกตาร่วมด้วย ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และอาการปวดอาจแย่ลงหากอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือมีกลิ่นฉุน อาการปวดหัวที่บริเวณนี้มักดังเกิดจากโรคไมเกรน
- ไซนัส : ปวดโหนกแก้มทั้งสองข้างถึงหน้าผาก ดั้งจมูก อาการปวดหัวที่บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างลงมาจนไปถึงบริเวณหน้าผาก หรือปวดบริเวณดั้งจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส หากมีอาการอักเสบของไซนัสก็จะมีอาการปวดที่บริเวณดังกล่าว
- กรามอักเสบ: ปวดหน้าใบหู อาการปวดบริเวณนี้มักสัมพันธ์กับการเคี้ยวอาหาร และอาการกัดฟันเวลานอนหลับด้วย เพราะสามารถทำให้กระดูกกรามหน้าใบหูอักเสบได้
- หลอดเลือดสมอง/เนื้องอกสมอง : ปวดศีรษะรุนแรง ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือไม่เคยปวดหนักขนาดนี้มาก่อน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด มีอาการชา กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง หรือบางคนอาจมีอาการชัก ซึ่งถือเป็นอาการรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วน
ถึงแม้ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดศีรษะจะไม่เป็นอันตราย แต่การรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำรงชีวิตเป็นปกติสุข รวมถึงการคอยสังเกตความผิดปกติหรือสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันที ก่อนที่โรคจะรุนแรงขึ้นและยากต่อการรักษานั่นเองครับ...