เผยรายงานภัยร้ายคุกคามสุขภาพมนุษย์ ที่ซ่อนอยู่ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเนื่องในวันอนามัยโลก

07 Apr 2022

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยงานวิจัยล่าสุดเนื่องในวันอนามัยโลก ชี้ชัดว่าการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษยอย่างมหาศาล ซึ่งเชื่อมโยงให้เห็นถึงภัยของ ซูเปอร์บั๊ก' (Superbug) หรือ 'เชื้อดื้อยา' ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของประเทศไทย รวมถึงภัยด้านสุขภาพอื่น และสถานการณ์นี้ก็จะเลวร้ายลงไปอีก หากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เผยรายงานภัยร้ายคุกคามสุขภาพมนุษย์ ที่ซ่อนอยู่ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเนื่องในวันอนามัยโลก

รายงาน "ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม" ฉบับนี้ เผยให้เห็นว่ารัฐบาลทั่วโลกเพิกเฉยต่อปัญหาสุขภาพมนุษย์ที่เกิดจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมและความทุกข์ทรมานของสัตว์ในฟาร์มนับพันล้านตัว โดยภายในปี พ.ศ. 2573 การบริโภคเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตสัตว์นับหลายพันล้านตัวที่ต้องเผชิญกับความเครียด จากการถูกตัดตอนอวัยวะและต้องอยู่ในกรงที่คับแคบมาทั้งชีวิต โดยในแต่ละปีร้อยละ 70 ของสัตว์ฟาร์มจำนวน 80,000 ล้านตัว* ทั่วโลกนั้น ถูกเลี้ยงและถูกฆ่าในระบบฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมอย่างโหดร้าย

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นตามแนวคิด 5 ประการที่ "ระบบอาหารส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ" ในรายงาน "Food Systems Delivering Better Health" iโดยองค์การอนามัยโลก เมื่อปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ในรายงานยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งยังหมายรวมถึงประเด็นวิกฤติเชื้อดื้อยาในประเทศไทย ที่ยังคงขาดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค ตลอดจนขาดการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มให้สูงขึ้น

"การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินจำเป็นในฟาร์มเป็นผลจากการเลี้ยงสัตว์แบบไม่มีสวัสดิภาพที่ดี ส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาขึ้นในฟาร์มและปนเบื้อนออกมายังแหล่งน้ำสาธารณะ สิ่งแวดล้อมรวมถึงร่างกายมนุษย์ ข้อมูลของการใช้ยาปฏิชีวนะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดที่ 38.56 กรัม/คน/ปี ซึ่งสูงกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์ถึง 6 เท่าที่ 6.57 กรัม/คน/ปี ii ยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อรักษาสัตว์ที่ป่วยรายตัวเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่ม อันมีสาเหตุมาจากสวัสดิภาพที่ย่ำแย่" โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าว

Jacqueline Mills หัวหน้าฝ่ายสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า "ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมกำลังทำให้เราป่วย หากมองอย่างผิวเผินแล้วเนื้อสัตว์ ปลา หรือผลิตภัณฑ์นม อาจดูเหมือนราคาถูก แต่เรามีต้นทุนที่ต้องจ่ายจากปัญหาสุขภาพที่ตามมาอีกทั้งรัฐบาลต้องจ่ายเงินจำนวนหลายล้านล้านเหรียญในแต่ละปีเพื่อบรรเทาความเสียหายเหล่านี้"

"เราต้องยุติวงจรความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในระบบอาหารของเรา การสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อทำให้เนื้อสัตว์มีราคาถูกนั้นเท่ากับเป็นการส่งสัตว์เข้าสู่วงจรการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมที่โหดร้าย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต่างๆจะต้องให้ความสนใจกับผลกระทบต่อสุขภาพของคน สัตว์และโลกที่ดีกว่านี้"

"การทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมในอนาคตต้องหมดไป เราต้องหยุดการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมไว้ชั่วคราว อุตสาหกรรมอาหารนั้นต้องมุ่งหน้าไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีมนุษยธรรม โดยที่เราบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก และการทำฟาร์มสัตว์ต้องอยู่ในระบบที่มีสวัสดิภาพที่ดีและสัตว์ก็ต้องมีชีวิตที่ดีด้วย "

เราต้องเปลี่ยนระบบเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของเรา โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นรวมถึงการเน้นการสนับสนุนการทำฟาร์มที่ยั่งยืนและมีมนุษยธรรมแทนการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม การทำให้ราคาอาหารที่มาจากพืชนั้นสามารถเข้าถึงได้ และสร้างทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรหากไม่ต้องการทำฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมอีกต่อไป

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหยุดสนับสนุนการทำฟาร์มสัตว์แบบอุตสาหกรรม พร้อมกับเสนอและบังคับใช้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้น ตลอดจนการกำหนดนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มกับสัตว์ฟาร์ม เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืน

ร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อโลกที่ดีกว่าสำหรับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมวันนี้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR

HTML::image(