สจล. พัฒนาโซลูชั่น "สกิลแมปปิง" ระบบวิเคราะห์ดีมานด์ตลาดแรงงาน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ-เอกชน พร้อมโชว์ 56 มาสเตอร์คลาสใหม่แห่งปี หนุนสร้างงาน-สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

07 Apr 2022

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งเป้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต เปิดตัว "สกิลแมปปิง" (Skill Mapping) โซลูชั่นระบบเชื่อมโยงอุปสงค์ความต้องการทักษะแรงงานของภาคอุตสาหกรรมกับการออกแบบหลักสูตรในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกัน ตั้งเป้าเริ่มใช้ภายใน สจล. ปีการศึกษา 2565 และเตรียมขยายผลสู่สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ หลังได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว "KMITL Masterclass" คอร์สออนไลน์ 56 หลักสูตรที่เปิดให้บุคคลทั่วไปยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นหรือสร้างทักษะใหม่ (Upskill-Reskill) แบบไร้ข้อจำกัด พร้อมรับประกาศนียบัตรการันตีศักยภาพ

สจล. พัฒนาโซลูชั่น "สกิลแมปปิง" ระบบวิเคราะห์ดีมานด์ตลาดแรงงาน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ-เอกชน พร้อมโชว์ 56 มาสเตอร์คลาสใหม่แห่งปี  หนุนสร้างงาน-สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. นอกการการมุ่งพัฒนาการศึกษาให้แก่นักศึกษาในปี 2565 สจล. ยังส่งเสริมบุคคลทั่วไปที่ต้องการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นหรือสร้างทักษะใหม่ (Upskill-Reskill)

ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ด้วยการพัฒนา "KMITL Masterclass" แพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ล่าสุด เพื่อพัฒนาทั้งฮาร์ดสกิล (Hard Skill) และซอฟท์สกิล (Soft Skill) ในรูปแบบออนไลน์สามารถเรียนรู้จากที่ไหน เวลาใดก็ได้ เมื่อเรียนจบยังได้รับประกาศนียบัตร โดยปัจจุบันได้พัฒนาหลักสูตรจำนวน 56 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and AI) ผู้ประกอบการสมัยใหม่ (Modern Entrepreneur) การแปรรูปอาหารไม่ยากอย่างที่คิด (Food Processing easier than you think)

"ทั้งนี้ สจล. มุ่งมั่นในการพลิกบทบาทสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต ตั้งเป้าเป็นสถาบันการศึกษาที่ริเริ่มนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาการศึกษาทั้งในระบบการศึกษาหลักและการศึกษาทางเลือก ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบัณฑิตยุคใหม่ รวมถึงแรงงานและผู้ประกอบการไทยให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรม"

นอกจากนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) คือความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมมีการนำนวัตกรรมระดับสูงมาใช้ มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ ที่สามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำในการวางรากฐานนวัตกรรม ทั้งการสร้างงานวิจัย รวมทั้งบุคลากรให้สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Disruptor) จึงได้พัฒนา "ฐานข้อมูลกรอบทักษะแรงงาน" (Skill Mapping) โซลูชั่นระบบรวบรวมทักษะแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบหรือพัฒนาหลักสูตรของ สจล. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ โซลูชั่นดังกล่าว เปรียบเสมือนแผนที่นำทาง ที่เปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคแรงงาน ได้ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกัน

ศ. ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ริเริ่มการพัฒนา "ฐานข้อมูลกรอบทักษะแรงงาน" (Skill Mapping) เผยถึงที่มาในการพัฒนาโซลูชั่นดังกล่าวมาจากการสำรวจข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการศึกษาและด้านระดับฝีมือแรงงานของไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง อาทิ ตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกในปีที่ผ่านมา (The Global Talent Competitiveness Index 2021) ประเทศไทยได้เฉลี่ยเพียง 45.46 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ซึ่งผลการจัดอันดับข้างต้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอีกหลายผลการสำรวจ หากไม่มีการพัฒนาทักษะของแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยก็จะค่อยๆ ทิ้งห่างจากประเทศอื่นๆ ในเวทีเศรษฐกิจโลกในที่สุด อันสอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมถึงอุปสงค์ความต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนไปโดยคาดหวังว่าบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้วควรมีทักษะการทำงานที่พร้อมใช้ทั้งทักษะทางเทคนิค (Technical Skill) และทักษะทั่วไป (General Skill) ตามอุปสงค์ความต้องการทักษะแรงงานที่ต่างไปในแต่ละอุตสาหกรรม

สจล. เล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างระบบตรงกลางที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างทักษะที่ตลาดแรงงานสมัยใหม่ต้องการเพื่อการออกแบบหลักสูตร สาขาวิชาเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา สจล. ให้สอดคล้องกัน สามารถสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะการทำงานที่ตรงกับความต้องการทีเฉพาะลงไปแต่ละอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี โซลูชั่นดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2565

ด้าน รศ. ดร.ปานวิทย์ ธุวะนุติ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการเรียนการสอน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยผู้พัฒนาโซลูชั่นระบบ Skill Mapping เผยว่า จุดเด่นของโซลูชั่นดังกล่าว คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรับรองคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะแรงงานที่ผู้ประกอบการคาดหวังในการจ้างงานได้ โดยระบบจะปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาโดยใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ประมวลผลข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บทั้งจากผู้ใช้งานโดยตรง รวมถึงแหล่งข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพสายงานต่างๆ ร่วมกับฐานข้อมูลภายนอกอื่นๆ อาทิ ข้อมูลจากเว็บไซต์สมัครงานที่เป็นที่นิยมอย่าง ลิงก์อิน (LinkedIn) จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) นำมารวบรวมและกลั่นกรองก่อนประมวลผลออกมาเป็นฐานข้อมูลกรอบทักษะที่แต่ละสายอาชีพต้องการอย่างแท้จริง ทั้งด้านเทคนิคและทักษะทั่วไปเพื่อให้สถานศึกษาต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบหลักสูตร นอกจากนี้ โซลูชั่นดังกล่าวยังเปิดให้ นักศึกษา ประชาชน ได้เข้าถึงฐานข้อมูลที่แสดงบน Skill Mapping มาเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะของตนให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสายอาชีพได้เช่นกัน

ด้าน ผศ. ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. ยังมีเป้าหมายนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมซึ่งเป็นจุดแข็งของ สจล. มาช่วยพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับบุคคลทั่วไป ทั้งการเปิดหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างอาชีพใหม่หรือเสริมทักษะเดิมให้แกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและการให้บริการของผู้ประกอบการ หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จตามหมุดหมายดังกล่าว ได้แก่ KMITL Street Food Academy โดยคณะอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกันสร้างนวัตกรรม "รถเข็นอนามัย" รถเข็นขายผลไม้-หมูปิ้ง ที่ใช้นวัตกรรมออกแบบระบบการควบคุมสุขลักษณะ เพื่อเป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้รถเข็นขายอาหารริมทางประเภทอื่น ให้ความรู้กับผู้ที่ตกงานหรือขาดรายได้จากวิกฤตโควิด-19 นอกจากนั้นยังได้ต่อยอด "โครงการเสริมสร้างสังคมผู้ประกอบการฟู้ดทรัค" (Smart Food Truck) ยกระดับอาหารรถขายอาหารโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพิ่มยอดขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีร่วมกับสตาร์ทอัพด้านอาหาร We Chef Thailand ทั้งยังมีคอร์สฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะการประกอบธุรกิจด้านอาหาร อาทิ หลักสูตรยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจอาหารของไทยในยุคหลังโควิด "GMP สำหรับสถานที่ และการขอเลข อย." เป็นต้น

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสถาบันได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial

HTML::image(