ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) และได้คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Experience in Community Policing ประเภทการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรตำรวจที่มีผลงานการพัฒนาแนวคิดตำรวจชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด จากการประชุมสุดยอดตำรวจโลก ในด้านการปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 14 - 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนวัตกรรมสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ของ สตช. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลในระดับโลก และสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้ได้มีการต่อยอดการดำเนินการมาจากโครงการต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัยของประเทศไทย ที่ สอวช. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation : TFF) จัดทำขึ้น และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการพัฒนาต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยนำกระบวนการ Design thinking เข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Co-Creation) ตลอดจนออกแบบนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) โดยรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผสานกับนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ส่งต่อนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย ให้ความสำคัญกับ 4 โดเมนหลัก ได้แก่ โดเมนที่ 1 Smart Technology for Safe City โดเมนเรื่องเมืองปลอดภัยโดยใช้ระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ, โดเมนที่ 2 Community Engagement โดเมนเรื่องเมืองปลอดภัยโดยใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน, โดเมนที่ 3 Future of Police Station แนวคิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการแจ้งเหตุ เพื่อให้ประชาชนแจ้งเหตุได้ทุกที่ทุกเวลา ตำรวจตรวจสอบข้อมูลได้หลากหลาย, และโดเมนที่ 4 Safety Literacy นโยบายการปลูกฝังทักษะด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน
สำหรับโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ได้คัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์ก แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ตามแนวคิด "เมืองอัจฉริยะ" ยกระดับการทำงานของตำรวจ ตามกรอบแนวคิด "ราชการ 4.0" ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ สตช. ในด้านการป้องกันอาชญากรรม ล่าสุดมี 100 สถานีตำรวจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้เน้นการสร้างพื้นที่เซฟตี้โซน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัยในชุมชน ให้เป็นรูปธรรม
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียด SAFE CITY POLICY PROTOTYPE : ต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัยของประเทศไทย ได้ที่: https://www.nxpo.or.th/th/report/7821/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit