กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชน สอดรับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) โดยฝึกอบรมหลักสูตร การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จากปลากระบอก ต่อยอดการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลากระบอกร้าปากพนัง
โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เน้นใช้วิธีการใหม่ เพื่อใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ การลดใช้เคมีภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช ดำเนินการตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 โดยจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ (การทำไตปลาแห้ง, การทำน้ำแกงส้ม) เพื่อต่อยอดและสนับสนุนการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการขายของออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลใหม่ BCG ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทั้งนี้ 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง ให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ "ทำน้อยได้มาก"
นางสาวสุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม สาขาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการนำวัตถุดิบจากปลากระบอก แปรรูปเป็นไตปลาแห้ง เพื่อยืดอายุสินค้า เพิ่มมูลค่าต่อยอดธุรกิจเพิ่มมากขึ้น สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณืการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 4- 5 เมษายน 2565 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลากระบอกร้าปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้สมาชิกมีทักษะ รายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตอบโจทก์การพัฒนาแรงงานในเศรษฐกิจฐานรากและสอดรับกับเศรษฐกิจชีวภาพในอนาคตอันใกล้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit