ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองจำนวน 21,713 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่มีการปิดเมืองเป็นวงกว้าง
ในไตรมาส 1 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 24,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่สินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,960 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 42.4% ในไตรมาส 1 ของปี 2565
ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 8,750 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองไว้ในระดับที่สูงกว่าสภาวะปกติตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 3.70% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 143.9% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสแรกสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่โดยรวมยังคงมีความเปราะบางและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายและความผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของธนาคาร โดยผ่านโครงการการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันยอดสินเชื่อภายใต้โครงการฯ (มาตรการสีฟ้า) มีจำนวน 249,000 ล้านบาท สุดท้ายนี้ ธนาคารมีความยินดีกับผลสำเร็จของการแลกหุ้นของธนาคารไปสู่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการตอบรับคำเสนอซื้อหุ้นมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ และฝ่ายจัดการมีความเชื่อมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวจากการปรับโครงสร้างนี้"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit