วช. ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ลงนามข้อตกลงการดำเนินงาน "TAIST-Tokyo Tech Implementation Agreement"

21 Apr 2022

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) Tokyo Institute of Technology สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล ในพิธีลงนามข้อตกลง TAIST-Tokyo Tech Implementation Agreement

วช. ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ลงนามข้อตกลงการดำเนินงาน "TAIST-Tokyo Tech Implementation Agreement"

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย Mr.Oba Yuichi อัครราชทูต ผู้แทนจากสถานทูตญี่ปุ่น โดยผู้ลงนามในครั้งนี้ประกอบด้วย Professor Dr. Kazuya Masu President of Tokyo Institute of Technology, JAPAN ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล ผู้แทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามข้อตกลงการดำเนินงาน "TAIST-Tokyo Tech Implementation Agreement" ร่วมกันภายใต้การดำเนินงานเรื่อง "การพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูงตามความต้องการของประเทศ : ทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (ปี 2565-2567) ในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่อการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรของประเทศ โดยการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลนโยบายและการดำเนินการด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและความสามารถในการแข่งขัน โดยการเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาและยกระดับกำลังคนของประเทศ เตรียมความพร้อมให้คนไทยมีทักษะและความสามารถที่สูงขึ้นโดยตระหนักถึงแนวคิด Thailand 4.0 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรมเป็นลำดับแรก มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตรใหม่เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการผลิตกำลังคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอให้จัดตั้ง "กองทุนอุดมศึกษา" ซึ่งกองทุนนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและความเป็นเลิศทางวิชาการของประเทศต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการพัฒนาบุคลากรทุกระดับเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญ วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จึงเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรวิจัยและวิศวกรรมทักษะสูงตามความต้องการของประเทศ : ทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (ปี 2565-2567) ให้แก่นักศึกษาที่เข้าศึกษาในหลักสูตรของโครงการ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโท ที่ สวทช. ร่วมกับ Tokyo Institute of Technology และมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ได้พัฒนาขึ้น โดยจัดการศึกษาในหลักสูตร/สาขาที่มีความต้องการกำลังคนสูงเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมของประเทศ ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ (Automotive Engineering) หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสมองกลฝังตัว (ICT and Embedded System) และหลักสูตรวิศวกรรมพลังงานและทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Energy and Resources Engineering) และหลักสูตรประกาศนียบัตรระบบขนส่งทางราง เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความสามารถและใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างสูงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ตลอดจนเป็นโอกาสที่ดีให้แก่นักศึกษาไทย ที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

HTML::image(