แม้ว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่และใฝ่ฝันสำหรับทุกสถาบันอุดมศึกษาไทย คือ การได้ก้าวขึ้นสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การสร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ
เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศรายชื่อมหาวิทยาลัยไทยที่สามารถก้าวขึ้นสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก จากการจัดอันดับ QS World University Rankings 2022 โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับ Top100 สาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา
ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพงานวิจัย และการเรียนการสอนที่ดี การมีปริมาณงานวิจัยจำนวนมาก และรวมไปถึงความเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการจากทั่วโลก ในสาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา ในภาพรวมของมหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลังของความสำเร็จอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศดังกล่าว หนึ่งในผลงานโดดเด่นล่าสุด ซึ่งมีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวขึ้นสู่ Top100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก QS World University Rankings 2022 สาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา ได้แก่งานวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขเรื่องการเข้าถึงยาใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทย
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเจ้าของผลงานวิจัย เรื่อง "การเปรียบเทียบประสิทธิผล และความปลอดภัยของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดกินรุ่นใหม่ กับยาวาร์ฟาริน ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยอาศัยข้อมูลจากการใช้จริงในระบบสุขภาพ" (Real-World Comparative Effectiveness and Safety of Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants vs. Warfarin in a Developing Country) ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับโลก"Nagai Award Thailand 2021" จาก The Nagai Foundation Tokyo ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้ คือ ความหวังของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทย ในการเข้าถึงยาใหม่
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายประเภท แต่ประเภทที่พบบ่อยที่สุดในประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรไทยด้วย คือ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ โดยมีลักษณะที่สั่นพลิ้ว ขาดการบีบตัวที่ดี ทำให้การไหลเวียนเลือดในหัวใจไม่ดี และนำไปสู่การเกิดก้อนเลือดในหัวใจ
ก้อนเลือดดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้น อาจหลุดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดที่สมองแบบเฉียบพลันและรุนแรง และทำให้เนื้อสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เกิดอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ได้
ด้วยเหตุนี้วิธีการหนึ่งในการรักษาภาวะดังกล่าว คือ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดก้อนเลือดอุดตันในสมอง
ในอดีตยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ "วาร์ฟาริน" (Warfarin) อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวมีปัญหาในการใช้ค่อนข้างมาก การควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดให้เหมาะสมตลอดเวลาทำได้ยาก และมีข้อเสียที่สำคัญ คือ พบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้โดยเฉพาะเมื่อควบคุมการใช้ยาได้ไม่ดีพอ
ด้วยความสนใจในการศึกษายารักษาโรคหัวใจอยู่แล้ว รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ ได้ศึกษาต่อยอดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นคนไทยมาก่อน โดยเปรียบเทียบกับยาเก่า "วาร์ฟาริน" (Warfarin) ที่ใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด และลดการเกิดก้อนเลือด แต่มีข้อเสีย คือ มักพบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้
กรณีที่พบบ่อยมากที่สุดของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ การที่ผู้ป่วยต้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาต จากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ แล้วทำให้เลือดในหัวใจไหลไม่ดี จนเกิดก้อนเลือดขึ้น และไหลตามกระแสเลือดจากหัวใจขึ้นไปอุดตันในสมอง
"Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" เป็นยากลุ่มใหม่ที่แม้อาจมีราคาที่สูงกว่าและในปัจจุบันยังใช้สิทธิเบิกจ่ายไม่ได้ แต่จากผลการวิจัยกับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไทยกว่า 2,000 ราย พบว่ายาใหม่เหล่านี้มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายา "วาร์ฟาริน" (Warfarin) อย่างมาก ช่วยลดอัตราการเกิดเลือดออกได้สูงถึงร้อยละ 50 - 70
นอกจากนี้พบว่า "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายา "วาร์ฟาริน" (Warfarin) ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยา "วาร์ฟาริน" (Warfarin) แต่ควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดได้ไม่ดีพอ
ด้วยเหตุนี้ยากลุ่ม "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" จึงควรค่าต่อการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็สามารถที่จะเข้าถึงยาใหม่นี้ได้
"การที่งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียง ไม่สำคัญเท่าการได้เห็นงานวิจัยที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถทำให้สังคมได้เห็นว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพียงใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมสนับสนุนงานวิจัยที่มีประโยชน์ ให้เจริญเติบโตต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ" รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit