วว. จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ /โพรไบโอติก / สารสำคัญจากสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนขอการรับรองจาก อย. ด้านการกล่าวอ้างทางสุขภาพ

27 Apr 2022

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Food) โพรไบโอติก และสารสำคัญจากสมุนไพร หรือจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ เช่น สาหร่าย เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนที่สามารถขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้านการกล่าวอ้างทางสุขภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 27 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี

วว. จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ /โพรไบโอติก / สารสำคัญจากสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนขอการรับรองจาก อย. ด้านการกล่าวอ้างทางสุขภาพ

ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว  วว. และมหาวิทยาลัยมหิดล จะนำร่องดำเนินโครงการในระยะแรก คือ การทดสอบโพรไบโอติกต่ออาสาสมัครที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน  ด้วยเล็งเห็นความสำคัญและต้องร่วมกันเร่งพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ครอบคลุมการพัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพทั้งระบบ ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ และต้องให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพได้อย่างแท้จริง เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ  ร่วมกันใช้ประโยชน์ด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์รวมทั้งห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยเชิงลึกที่มีศักยภาพและก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เร็วขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ต่อผู้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดทั้งในหน่วยงานภาครัฐและการลงทุนต่อผลงานวิจัยในภาคเอกชนเพื่อให้งานวิจัยครบทุกมิติมากยิ่งขึ้น และร่วมสร้างผลงานวิจัยที่ดีต่อประเทศ ที่ดีต่อสุขภาพประชาชนต่อไป 

"...วว. มีความเชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร  ด้านอาหารเชิงหน้าที่ หรือ Functional Food  อาหารเสริมโพรไบโอติก  การนำสารสำคัญจากสมุนไพรมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร   เครื่องสำอาง  รวมทั้งการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์  มีคลังจุลินทรีย์ที่มีสายพันธ์จุลินทรีย์มากกว่า  11,000 สายพันธุ์  มีการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนกับ อย.  อาทิเช่น   การทดสอบฤทธิ์ในสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐานระดับสากล  การตรวจค่าโภชนาการทางอาหาร   การตรวจวัดความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้   โดยเป็นหน่วยวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐาน ISO และ OECD-GLP   นอกจากนี้ยังมี Pilot Plant ด้านสาหร่าย  อาหาร  จุลินทรีย์  เครื่องสำอาง และศูนย์สัตว์ทดลอง ได้รับมาตรฐานระดับสากล AAALAC, OECD-GLP lab  เชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยมหิดลจะส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน  ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม  สร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน..." ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว

ทั้งนี้ วว. มีพันธกิจและบทบาทหลักที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อการเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ตอบสนองต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่สามารถใช้ตอบโจทย์และใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์และสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดผลต่อการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ  โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ วว. คือ การพัฒนางานวิจัยบนฐานทรัพยากรในด้าน เกษตร สมุนไพร ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร จุลินทรีย์พรี-โพรไบโอติก อาหาร และเวชสำอาง รวมทั้งงานด้านวิศวกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ทดสอบเพื่อบริการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ   ปัจจุบันประเทศไทยรวมถึงเราทุกคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม รวมทั้งภัยคุกคามจากโรคภัยต่างๆ ที่เข้ามาประชิดและใกล้ตัวตัวเราทุกคนมากขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ  จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญที่จะใช้เป็นเกราะในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามเหล่านี้มากขึ้น

ศ.นพ.บรรจง   มไหสวริยะ    อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มีการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน ESPEL  มี Pilot Plant คือ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ซึ่งมีการทดสอบด้านความปลอดภัยครบวงจรที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล AAALAC, OECD-GLP lab มีการทดสอบในระดับมนุษย์ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เพียงแต่มีบทบาทในการสร้างบัณฑิตเท่านั้นแต่ยังมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมประเทศชาติ รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาที่ว่าความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ

"...ภายใต้ความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ วว. จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน  ดำเนินการวิจัยพัฒนา การสนับสนุน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานอย่างเป็นระบบ ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน สอดคล้องกับพันธกิจในการดำเนินงานของทั้งสองสถาบัน ซึ่งในปัจจุบันสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันโภชนาการ ได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้องค์ความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการ รวมถึงด้านอื่นๆที่จะมีความร่วมมือในอนาคต อาทิ สมุนไพร  เวชสำอาง ชีวภัณฑ์ทางด้านการเกษตร ขยายผลออกไปในวงกว้าง  อันจะนำไปสู่ความสมดุลแห่งชีวิตของคนในสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า…" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก  วว.   ติดต่อได้ที่  โทร.  0 2577  9000  โทรสาร  0 2577   9009  E-mail : [email protected]  Line@TISTR   IG : tistr_ig

 

 

HTML::image(