การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เดินหน้าสนับสนุนการทำเกษตรชีวภาพ ปรับแนวทางใช้ปุ๋ยปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีใหม่ ลดปริมาณปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม โดยไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง ลดต้นทุนการผลิต ตามนโยบาย BCG โมเดลของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับมือวิกฤตการขาดแคลนปุ๋ยเคมีและราคาที่เพิ่มสูงขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนเคมีที่นำมาเป็นส่วนผสม ทำให้ราคาแม่ปุ๋ยสูตรต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้นจากเดิม เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว กยท.ได้มีแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ยในปีรอบต้นฤดูฝนปี 2565 ดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรผู้รับการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี ส่วนปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลน แก้ไขโดยปรับลดอัตราการใส่ปุ๋ยเคมีลงครึ่งหนึ่งเพื่อให้สามารถจัดหาปุ๋ยได้ง่ายขึ้นและเพียงพอกับความต้องการ ร่วมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลักวิชาการในอัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่จะต้องจัดหาเพิ่มขึ้นนั้น สามารถจัดหาได้ง่ายภายในประเทศ มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน
"สอดคล้องกับการทำเกษตรชีวภาพ ตามนโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การทำเกษตรกรรมปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ไร้สารพิษตกค้าง และต้นทุนต่ำลงจากการลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ตั้งแต่การบำรุงพืชด้วยปุ๋ยชีวภาพและวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภาพ"
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.จะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรที่รับการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีอย่างทั่วถึงในวิธีการใส่ปุ๋ยและอัตราการแนะนำใหม่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ลดผลกระทบจากวิกฤติการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ และนโยบายการทำเกษตรอย่างยั่งยืนของรัฐบาลด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit