ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้ายของประกาศ
พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุนที่ '2' และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ 'BBB' ของธนาคาร เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และสอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) แก่ TTB ที่ 'bbb'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TTB สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทยมีความสามารถและมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ธนาคาร หากมีความจำเป็น ทั้งนี้การสนับสนุนจากรัฐบาลพิจารณาจากความสำคัญของ TTB ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในฐานะธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของประเทศไทยและการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ TTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวยังพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของ TTB กับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TTB สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังสะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่าโอกาสในการที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากทางการไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ TTB สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (business profile) ที่ได้แรงหนุนจากเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ (franchise) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2562 แม้ธนาคารจะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการได้อย่างเต็มที่มากนัก นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ยังสะท้อนถึงการที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB น่าจะยังสามารถรองรับแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง เช่น ด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านฐานะเงินกองทุน รวมทั้งยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงปรับตัวลดลง
มีโอกาสสูงที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ TTB พิจารณาจากความเชื่อของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ TTB เนื่องจากความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของธนาคาร TTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อและเงินฝากที่ประมาณ 8% และ 9% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2564 และมีสถานะเป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทยในปี 2564 ซึ่งสะท้อนถึงขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ รวมทั้งธนาคารยังมีธุรกรรมทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินในระดับสูง (interconnectedness) และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุม
สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานได้แรงหนุนจากรัฐบาล: อันดับคะแนนด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของภาคธนาคารไทยตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐานของฟิทช์ (implied operating environment score) นั้นอยู่ที่ระดับ 'bb' แต่ฟิทช์ได้มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนโดยใช้ปัจจัยด้านอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' โดยภาครัฐมีความสามารถในการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเห็นได้จากมาตรการต่างๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 เช่น นโยบายทางการคลัง หรือการสนับสนุนจากธนาคารรัฐ ทั้งนี้ระดับหนี้สินของรัฐบาลไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีอันดับเคตรดิตในกลุ่มเดียวกัน
สถานะทางการตลาดปรับตัวดีขึ้น: ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจและขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่อีกทั้งยังมีการกระจายตัวของธุรกิจในกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นอย่างมากหลังจากการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 และฟิทช์คาดว่าธนาคารจะมีผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยจะป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สะท้อนใน 'แนวโน้มเป็นบวก' ของอันดับคะแนนด้านโครงสร้างธุรกิจที่ 'bbb-' อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจปรับแนวโน้มอันดับคะแนนดังกล่าวเป็น 'มีเสถียรภาพ' หากมีความชัดเจนมากขึ้นว่าการควบรวมกิจการไม่น่าจะส่งผลให้ฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและในระดับที่มีนัยสำคัญ
สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่ยังบริหารจัดการได้: คุณภาพสินทรัพย์ของ TTB น่าจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องในปี 2565 เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้สินเชื่อ (ซึ่งคิดเป็น 12% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2564) จะหมดอายุลงภายในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมไม่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก (สิ้นปี 2564: 3.1%) และน่าจะยังสามารถทรงตัวอยู่ในระดับกลุ่มอันดับคะแนน 'bbb' ได้
ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์อาจจะลดทอนลงได้บ้างจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการหดตัวของสินเชื่อของธนาคารที่ปรับตัวลดลง 1.5% ในปี 2564 (เทียบกับอัตราการเติบโตของสินเชื่อของอุตสาหกรรมเฉลี่ยที่ 6%) นอกจากนี้ TTB ยังคงมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับที่น่าพอใจที่ 128% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งน่าจะช่วยเป็นกันชนในการตัดหนี้สูญและความเสี่ยงที่ไม่ได้คาดคิด ณ ระดับอันดับเครดิตปัจจุบัน
อัตรากำไรปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำ: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ TTB ที่ 1.0% ในปี 2564 ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตหสาหกรรม (เฉลี่ย 1.5%) และกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงบ้างของค่าใช้จ่ายในการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าธนาคารอาจจะมีศักยภาพที่ดีขึ้นในด้านการสร้างรายได้หลังจากการควบรวมกิจการ แต่การปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นอาจจำเป็นที่จะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน
เงินกองทุนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ: อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1 ratio) ของ TTB อยู่ที่ 14.4% ณ สิ้นปี 2564 และฟิทช์ไม่คาดว่าฐานะเงินกองทุนของธนาคารจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น ฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะได้รับแรงหนุนจากกำไรสะสม (internal capital generation) จากการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของรายได้ อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน CET1 ของธนาคารจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า แต่ยังคงเหมาะสม ณ ระดับอันดับคะแนนปัจจุบัน และน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดได้ในระดับหนึ่ง
การระดมเงินทุนมีเสถียรภาพ สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี: อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของ TTB ที่ 103% ณ สิ้นปี 2564 อยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น และค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 94% อัตราการเติบโตของเงินฝากของ TTB อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นในช่วงปี 2563 และ 2564 เนื่องจากธนาคารมีนโยบายในการปรับปรุงต้นทุนทางการเงินหลังจากการควบรวมกิจการ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงมองว่าโครงสร้างการระดมเงินทุนโดยรวมของธนาคารยังคงมีเสถียรภาพและมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจในประเทศของธนาคาร นอกจากนี้อัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออก (LCR ratio) ของธนาคารยังบ่งชี้ว่าธนาคารมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างดี โดยมีอัตราส่วน LCR ที่ 172% ณ สิ้นปี 2564
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน และอันดับเครดิตภายในประเทศอาจต้องมีการทบทวนการพิจารณาในกรณีที่ฟิทช์อาจมองว่าโครงสร้างเครดิตของ TTB ปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล หากรัฐบาลมีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้หากมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนปรับตัวด้อยลง เช่นจากการปรับตัวลดลงของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ (เช่น การยกเลิกสถานะธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ) หรือการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่มีนัยสำคัญ
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB ปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งน่าจะเกิดจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดการณ์และสถานะทางการตลาดของธนาคารไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อฐานะทางการเงินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่นในกรณีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่มากกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ากว่า 100% (สิ้นปี 2564: 128%) และการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1.0% ในช่วง 2 ปีข้างหน้าหรือมากกว่า นอกจากนี้การที่ธนาคารไม่สามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอกับความเสี่ยงที่เพี่มขึ้น ซึ่งอาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ต่ากว่า 13.0% อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการปรับเพิ่มอันดับ และการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศจะพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การที่รัฐบาลมีความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ TTB ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้จากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการเพิ่มอันดับ แต่สมมติฐานของฟิทช์ในด้านโอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารต้องไม่มีการปรับตัวลดลง หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TTB ก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับเพิ่มอันดับ หากเครือข่ายธุรกิจในประเทศของ TTB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นและมีโครงสร้างธุรกิจที่ดีขึ้น และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารในประเทศรายอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า
ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธนาคารสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมให้ต่ำกว่า 2.7% อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 1.5% และอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่สูงกว่า 15.0% โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสาคัญของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้นเนื่องจากยังคงมีความท้าทายในด้านสภาพแวดล้อมการดำเนิน
อันดับเครดิตหุ้นกู้
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TTB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในกรณีที่เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศ (implied national VR) และเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน สำหรับเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) คือเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น สิทธิในการยกเว้นหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับโครงสร้างเครดิตเฉพาะของ TTB ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน
การปรับตัวดีขึ้นของโครงสร้างเครดิตเฉพาะของ TTB น่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร อาจจะส่งผลให้เกิดการทบทวนอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิในเชิงบวก แต่ทั้งนี้ฟิทช์จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
การปรับอันดับคะแนนของปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานที่ 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนจากปัจจัยด้านอันดับเครดิตของประเทศ
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit