กสิกรไทย ประเมินมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัว คาดไตรมาส 2 และ 3 น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพิ่มจากไตรมาสแรกที่มีเฉลี่ยเดือนละ 166,000 คน สร้างรายได้การท่องเที่ยวปี 2565 รวมตลาดต่างชาติเที่ยวไทยและตลาดไทยเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นตัว แตะ 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6.5 แสนล้านบาทจากปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารเตรียมส่งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินตอบโจทย์ลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการเปิดจุดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรวมกว่า 800 แห่ง บัตรใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่แบบ Cashless เช่น บัตรเดบิต JOURNEY กสิกรไทย บัตร YouTrip และเพิ่มช่องทางบริการของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บนแพลตฟอร์ม TAGTHAi (ทักทาย) หลังจากนี้ จับตาการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย และมาตรการในประเทศเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง
ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเปิดประเทศโดยยกเลิกมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ในขณะที่ทั่วโลกมีประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบรวมแล้ว 104 ประเทศ (อ้างอิงข้อมูลจาก wego.com) ล้วนส่งเสริมบรรยากาศการเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลกให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นานกว่า 2 ปี โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 จะมีเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 300,000 คน มากกว่าไตรมาสแรกที่มีชาวต่างชาติเที่ยวไทยเฉลี่ยเดือนละ 166,000 คน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน สร้างรายได้ตลาดต่างชาติเที่ยวไทย 2.4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับตลาดไทยเที่ยวไทยที่ก็ฟื้นตัว ได้รับปัจจัยส่งเสริมจากเทศกาลสงกรานต์ และโครงการภาครัฐทั้งเราเที่ยวด้วยกัน และ คนละครึ่ง ส่งผลให้รายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2565 แตะ 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6.5 แสนล้านบาทจากปีก่อน นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศของคนไทย ยังเพิ่มมากขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มปลดล็อกเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เป็นต้น
รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT (Free Individual Traveler) มีทั้งที่เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน และคนที่เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยว (Workcations) โดยธนาคารได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการเงินสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนี้
กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย
1) ธนาคารเปิดจุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกว่า 800 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องผ่าน เช่น สนามบิน ซึ่งมีทั้งบูธแลกเงิน และตู้แลกเงินต่างประเทศอัตโนมัติ รวมถึงสาขาธนาคารทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการแลกเงินต่างประเทศเช่นกัน โดยธนาคารเตรียมเปิดตัวบริการแลกเงินต่างประเทศรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ในเร็ว ๆ นี้
2) สนับสนุนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก เน้นการดูแลสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงสำหรับดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมผลักดันการใช้แอปฯ TAGTHAi (ทักทาย) แพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว สินค้าและบริการของผู้ประกอบการแบบครบวงจร พร้อมออกบัตรทักทายพาส (TAGTHAi pass) บัตรดิจิทัลด้านไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว (Digital pass) อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวด้วยการชำระเงินซื้อเพียงครั้งเดียว ก็สามารถเข้าถึงบริการการท่องเที่ยวที่คัดสรรอย่างดีโดยคนท้องถิ่น ทั้งบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ร้านอาหาร บริการด้านการเดินทาง สปาและสุขภาพ และมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ พร้อมเปิดช่องทางบริการให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ และอื่น ๆ เพิ่มศักยภาพของตนเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในวงกว้างผ่านแอปฯ TAGTHAi
กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวต่างประเทศ
1) บัตรใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่แบบ Cashless ได้แก่ บัตรเดบิต JOURNEY กสิกรไทย สามารถใช้จ่ายได้ทุกสกุลเงิน ไม่มีชาร์จ 2.5% ฟรีประกันการเดินทางต่างประเทศ คุ้มครองสูงสุด 1.5 ล้านบาท และบริการ YouTrip ซึ่งเป็น Multicurrency Wallet ลูกค้าสามารถแลกเงินล่วงหน้าได้ 10 สกุลเงิน ใช้จ่ายได้กว่า 150 สกุลเงิน และสามารถรูดใช้จ่ายผ่านบัตร YouTrip ได้ทั่วโลก ไม่มีชาร์จ 2.5% ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ
ดร.พิพัฒน์พงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยที่ยังส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ได้แก่ นโยบายปลอดโควิดของจีน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถมาเที่ยวไทยได้อย่างปกติ สถานการณ์ในยูเครน หากรุนแรงขึ้นอาจกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากยุโรป รวมถึงการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย และมาตรการในประเทศเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit