ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายเก็นจิโร คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมการหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ส่งเสริมความร่วมมือเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งร่วมเสริมสร้างการพลิกโฉมระบบอาหารของไทยและญี่ปุ่น เพื่อความยั่งยืนสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)
"การพบปะหารือระหว่างสองนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงการได้หารือกับ รมว.เกษตรฯ ญี่ปุ่นในวันนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการเกษตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายหลังรัฐบาลไทยได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ อีกทั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันแบบ 'physical meeting' โดยในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 135 ปี ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือระหว่างกันในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรในระดับทวิภาคี ระดับพหุภาคี และระดับองค์การระหว่างประเทศ" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกการส่งออก เฉลี่ยปีละ 144,820 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เนื้อไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อไก่แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต และยางแผ่นรมควัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นมากกว่า 130,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในที่ประชุม รมว. เกษตรฯ สองฝ่ายแสดงความยินดีที่การหารือด้านเทคนิคของการปรับมาตรการนำเข้ามังคุดและส้ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรของทั้งสองฝ่าย โดยเร่งรัดให้สามารถปรับใช้ได้ภายในปี 2565
สำหรับการปฏิรูประบบอาหารยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายมีนโยบายที่สอดคล้องกัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรสู่3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา มุ่งยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน และการทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมี่ยมมีความหลากหลาย และกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร โดยฝ่ายญี่ปุ่นเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือในการร่วมศึกษาและวิจัยด้านวิชาการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของการผลิตสินค้าเกษตรและระบบอาหาร เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 รวมทั้งยินดีสนับสนุนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรให้เป็นที่นิยมและความต้องการของตลาดในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก
นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นประสงค์สนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะกับไทย ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร และเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรไทย โดยปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นหลายรายอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาโครงการความร่วมมือทางด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือร่วมกันต่อไปถึงแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงและความคุ้มทุนในการปรับใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉราริยะให้แก่เกษตรกร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit