ดวงตาคือหน้าต่างของสุขภาพ จักษุแพทย์ จุฬาฯ ชวนทำความรู้จักโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โรคที่อาจดูคล้ายๆ กับอาการตาล้าจากการใช้สายตาปกติ ซึ่งบั่นทอนคุณภาพการมองเห็นโดยเฉพาะในคนวัยทำงาน ซึ่งควรได้รับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์ และการรักษาที่เหมาะสม
หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน อาการที่หลายคนอาจชะล่าใจ คิดว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือเป็นเวลานาน แต่จริงๆ แล้ว อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิด
รองศาสตราจารย์ พญ.พริมา หิรัญวิวัฒน์กุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขปัญหาสุขภาพโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ที่พบได้ในประชากรวัยผู้ใหญ่และวัยทำงานในปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้หลายคนสับสนกับภาวะตาล้าหรือตาแห้ง จากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานตามปกติ
โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ โรค MG คืออะไร
Myasthenia Gravis หรือที่เรียกกันย่อๆ ในกลุ่มแพทย์และคนไข้ว่า "โรค MG" เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาก็จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) ภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงหลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง
อาการสำคัญคือ หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น โฟกัสภาพไม่ได้ เกิดภาพซ้อน ลักษณะคือเห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน แต่หากคนไข้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาพซ้อนดังกล่าวจะหายไป
"ลักษณะสำคัญของโรค MG คือ อาการจะไม่คงที่ เป็นๆ หายๆ เมื่อไรที่คนไข้ได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่เหนื่อยล้า อาการก็จะดีขึ้น แต่พอใช้งานสายตาไปสักพัก อาการก็จะแย่ลง เช่น เวลาตื่นนอนตอนเช้า ดวงตามีขนาดเท่ากัน แต่พอบ่ายๆ กล้ามเนื้อดวงตาเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่ใช้งาน หนังตาจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ โฟกัสภาพไม่ได้ เห็นภาพซ้อน" รศ.พญ.พริมา อธิบาย
อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวไม่จำเพาะว่าจะเป็นอาการของโรค MG เท่านั้น แต่อาจเกิดจากการที่เส้นประสาทในสมองมีปัญหาและโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน
"จริงๆ แล้ว โรค MG ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตาอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งโรค MG ที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อตาอาจจะเป็นอาการนำของโรค MG แบบทั่วร่างกายได้ โรค MG แบบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายอาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบการกลืนและการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น แพทย์ต้องวินิจฉัยด้วยว่าอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่คนไข้เป็นอยู่นั้นมีอาการกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วยหรือเปล่า"
รศ.พญ.พริมา อธิบายเพิ่มเติมว่าคนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่มีปัญหาอยู่เฉพาะที่กล้ามเนื้อตาเท่านั้น นานตั้งแต่ 2-3 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเป็น Myasthenia Gravis หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วตัวจะค่อนข้างน้อย
"ในช่วงแรกๆ ที่คนไข้มาพบแพทย์ จะต้องมีการสังเกตอาการเป็นระยะๆ ว่าอาการที่ตาแล้ว มีอาการอื่นอีกหรือไม่ เช่น เวลารับประทานอาหาร มีอาการกลืนติด กลืนลำบาก สำลักบ่อย เวลาพูดบรรยายหรือร้องเพลง ช่วงแรกๆ เสียงจะยังเป็นปกติ ต่อมาเริ่มเสียงเปลี่ยน เสียงพูดเบาลง หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงเมื่อใช้งาน และอาการดีขึ้นหลังได้พักผ่อน หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้"
สาเหตุ และการเกิดโรค MG
โรค MG เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้สารสื่อประสาททำงานลดลง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย
"โดยปกติ ร่างกายของคนเรา เวลาที่จะใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง สมองจะสั่งการผ่านเส้นประสาท แล้วเส้นประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีตัวรับสารสื่อประสาทอยู่บนตัวกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดตัว ทำงานได้ตามปกติ" รศ.พญ.พริมา กล่าว
"ความผิดปกติของโรค MG เกิดจากการที่ร่างกายของเราสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา โดยจะมีภูมิคุ้มกันอยู่จำพวกหนึ่งที่ชอบเข้าไปแย่งสารสื่อประสาทกับตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาจากเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงลงตามระยะเวลาการใช้งานและสารสื่อประสาทที่ลดลง"
รศ.พญ.พริมา กล่าวเพิ่มเติมว่าโรค MG สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ สมาชิกในครอบครัวก็มีโอกาสจะป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าโรค MG มักจะมาคู่กับโรคไทรอยด์ถึงประมาณ 10-15% ดังนั้น คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์จึงควรสังเกตให้ดีว่ามีโรค MG เข้ามาร่วมด้วยหรือเปล่า
"โดยปกติแล้วโรค MG มักเกิดขึ้นกับคนในผู้หญิงช่วงวัย 20-40 ปี แต่ในผู้ชายจะพบหลัง 50 ปี แต่หากพบในคนไข้ที่อายุมากๆ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคมะเร็งต่างๆ แม้จะพบน้อย แต่ควรตรวจให้ละเอียด เนื่องจากมีมะเร็งหรือเนื้อร้ายหลายชนิดที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดปัญหาคล้ายๆ กับโรค MG ได้" รศ.พญ.พริมา กล่าวเสริม
สังเกตอาการและทดสอบโรค MG ทำอย่างไร
อาการของโรค MG หรือโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่สังเกตได้คือหนังตาตก คล้ายๆ กับภาวะหนังตาตกตามวัย หลับตาไม่สนิท โฟกัสภาพลำบาก หลังจากทำงานไปดีระยะหนึ่ง แต่หากได้พักแล้วจะดีขึ้น
"ถ้ามีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น เห็นภาพซ้อน กลอกตาไม่ได้ ตาเหล่ผิดจากไปจากปกติ แต่เมื่อได้พักผ่อนแล้วอาการดีขึ้น ลักษณะสำคัญคือ 'เช้าดี บ่ายแย่' หลังตื่นนอนแทบไม่มีอากร อาการจะมีมากช่วงบ่ายๆ เย็นๆ จนบางคนอาจขับรถไม่ได้ ต้องนอนพักถึงจะดีขึ้น แบบนี้ก็น่าสงสัยว่าเราอาจจะป่วยเป็นโรค MG ได้" รศ.พญ.พริมา แนะวิธีสังเกตอาการของโรค MG ด้วยตัวเอง และกล่าวเสริมถึงวิธีการทดสอบอาการโรค MG เบื้องต้นอย่างง่าย 2 แบบ คือ
"อาจจะลองถ่ายรูปตัวเองตอนเช้าหลังตื่นนอน นำมาเปรียบเทียบกับรูปถ่ายในช่วงบ่าย วิธีการคือถ่ายรูปตัวเองมองตรงไปข้างหน้า ตำแหน่งที่ถ่ายก็ควรเป็นตำแหน่งเดิม เนื่องจากการกดกล้องขึ้นหรือลง เปลี่ยนตำแหน่ง อาจทำให้ความกว้างของดวงตาเปลี่ยนไป"
"หากทำ Ice Test เองที่บ้านก็สามารถสังเกตได้เองว่าหลังจากวางน้ำแข็งบนเปลือกตาทั้งสองข้างไป 2 นาทีแล้ว สามารถเปิดตาหรือลืมตาได้ดีขึ้น หรือกว้างมากขึ้นหรือไม่ แต่ต้องสังเกตภายใน 30 วินาที หลังเอาน้ำแข็งออก เพราะเปลือกตาจะตกลงมาอยู่ตำแหน่งเดิมหลังความเย็นลดลง"
ทั้งการทดสอบด้วย Sleep Test และ Ice Test หากหนังตากลับมาตกอีก ก็สงสัยได้ว่าจะมีอาการของโรค MG ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย ทดสอบ เจาะเลือดตรวจหาไทรอยด์ ตรวจดูภูมิคุ้มกันต่างๆ ตรวจดูกระแสไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือเอ็กซเรย์เพื่อตรวจหาเนื้องอกต่อมไทมัส (Thymoma) และอื่นๆ ต่อไป
วิธีการรักษาโรค MG
รศ.พญ.พริมา กล่าวว่าโดยทั่วไป โรค MG จะรักษาด้วยการให้ยาเท่านั้น ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่
กลุ่มยาที่เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นประเภทที่มีความปลอดภัยสูง แต่อาจมีผลข้างเคียงในช่วงแรกๆ เช่น ปวดท้อง ถ่ายท้อง น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก โดยจะมีอาการมากในรายที่เริ่มทานยาในขนาดที่สูง
กลุ่มยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้เมื่อยาในกลุ่มแรกให้ผลที่ไม่ดีพอ หรือเริ่มมีอาการอื่นนอกจากหนังตาตก แต่จะมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมาก เช่น สิวขึ้น อ้วนขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันต่ำลง ในคนไข้ที่ได้รับยา ทั้งนี้ ห้ามคนไข้หยุดยาเอง เนื่องจากจะมีผลข้างเคียง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ หรือฮอร์โมนผิดปกติตามมาได้
กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด มีฤทธิ์ทำลายตับหรือกดไขกระดูก
แต่หากคนไข้มีอาการเพียงหนังตาตกเล็กน้อย ไม่มีอาการอื่น แพทย์ให้เพียงยาหยอดตากลุ่มที่สามารถทำให้เปลือกตายกขึ้นได้ไปใช้ ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองกับยากลุ่มใดๆ ดังกล่าวเลย และมีอาการคงที่ แพทย์จะให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดหนังตานั้นให้ผลการรักษาที่ไม่แน่นอน
"หากคนไข้ทำการผ่าตัดดึงหนังตาโดยไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรค MG เมื่ออาการของโรคดีขึ้นหรือได้รับการรักษาอาจจะทำให้เปลือกตาถูกยกรั้งขึ้นผิดปกติ กลายเป็นหนังตาเหลือก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรมผ่าตัดหนังตา หากคนไข้มีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรได้รับการตรวจว่าไม่ได้เกิดจากโรค MG ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดหนังตาหรือทำศัลยกรรมทำตาสองชั้นเพื่อแก้ไขหนังตาตกต่อไป"
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรค MG
รศ.พญ.พริมา แนะนำผู้ป่วยโรค MG ให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นโรคต่างๆ ได้แก่ การอดนอน พักผ่อนน้อย หรือการทำงานหนักจนเหนื่อยมากๆ การอยู่ในที่อากาศร้อน มีแสงจ้ามากๆ เป็นต้น
"โรค MG ไม่ชอบความร้อน หากผู้ป่วยอยู่ในที่อากาศเย็นอาการจะดีขึ้น สำหรับคนไข้เพศหญิง ช่วงที่มีประจำเดือน อาการของโรคอาจจะแย่ลงกว่าปกติ ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าเดิม พักผ่อนให้เยอะขึ้น"
"นอกจากนี้ คนไข้ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อต่างๆ หากไม่สบาย เป็นไข้หรือเป็นหวัด อาการของโรค MG ก็จะแย่ลงตามไปด้วย การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็อาจทำให้อาการแย่ลงเช่นกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MG เมื่อไปทำการรักษาโรคอื่นๆ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชยากรทุกครั้งว่าเป็นโรค MG และตอนนี้ทานยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อความปลอดภัยของคนไข้เอง" รศ.พญ.พริมา กล่าว
สำหรับผู้ที่มีความกังวลว่าตนเองอาจจะมีภาวะของโรค MG หรือโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หลังได้ทำการทดสอบง่ายๆ ด้วยตนเองที่บ้านแล้ว แนะนำให้ไปตรวจกับจักษุแพทย์หรืออายุรแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ท่านสะดวกเพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และโรคไทรอยด์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit